Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

เคล็ด(ไม่)ลับฉบับคุณแม่

เคล็ด(ไม่)ลับฉบับคุณแม่

สำหรับคุณแม่มือใหม่ และคุณแม่ที่มีประสบการณ์มีลูกน้อยมาแล้ว ต่างต้องเจอกับเหตุการณ์หรือปัญหาเกี่ยวกับลูกน้อย บางคนอาจหาทางแก้ไขจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หรือบางคนอาจจะเจอเคล็ดลับดีๆ ในการจัดการกับปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง เราได้รวบรวมเคล็ด(ไม่)ลับให้กับคุณแม่เพื่อเป็นประโยชน์กับลูกน้อย ลองมาดูกันค่ะ

10 วิธีเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกเป็นที่รัก

10 วิธีเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกเป็นที่รัก

วิธีการแสดงความรักนั้นต้องอาศัย การเรียนรู้ ซึ่งมากกว่าการเลี้ยงดูเฉพาะทางกาย ลูกน้อยก็จะแบ่งปันความรักสู่คนอื่นๆ หรือโลกรอบตัวเขาได้เขาต้องเรียนรู้การเป็นผู้ได้ความรักก่อน 10 วิธีเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกเป็นที่รัก คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

1.“รักนะแต่ไม่ตามใจ” นั่นคือรักลูกน้อยอย่างมีขอบเขต ไม่ตามใจจนเกินไป เด็กทุกคนยังต้องการการกำกับโดยผู้ใหญ่อย่างมีเหตุผลและมีความหนักแน่นมั่นคงในกฎกติกา แต่ก็ไม่ควรห้ามมากเกินไป จนลูกขาดอิสระ
2.อย่ากลัวการที่ลูกแสดงอารมณ์ เพราะนั่นเป็นเพียงสิ่งที่ลูกต้องการแสดงให้เรารู้ว่า ข้างในใจเขาเป็นอย่างไร ควรยอมรับอารมณ์ลูกที่เกิดขึ้น สังเกตอารมณ์เขาจากสีหน้าท่าทาง สะท้อนเป็นคำพูดให้เขาเห็นว่าเราสังเกต เช่น “แม่รู้ว่าลูกโกรธ” กระตุ้นให้ลูกมีการพูดคุยสื่อสารและแก้ข้อขัดแย้งทางบวก โดยการเปิดใจคุยกับลูกน้อย รับฟังลูกน้อยโดยไม่ตัดสินถูกผิด
3.ให้เกียรติลูกน้อย ไม่ตำหนิ ประจาน หรือ ว่ากล่าวลูกต่อหน้าผู้อื่น รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อย แล้วลูกจะรู้จักให้เกียรติและรับฟังความเห็นของผู้อื่น
4.อ่อนโยนกับลูกน้อย พูดคุยกับลูกน้อยอย่างนุ่มนวล ไม่หยาบคาย สัมผัสลูกอย่างนุ่มนวล ปลอบโยน แล้วลูกจะอ่อนโยนกับผู้อื่น และจะแบ่งปันความรู้สึกหรือประสบการณ์เหล่านี้สู่ผู้อื่นได้
5.รู้จักขอโทษลูกน้อย เมื่อพ่อแม่เผลอทำสิ่งไม่ดีหรือแสดงอารมณ์ใส่ลูก จะทำให้ลูกเรียนรู้การรับผิดและการให้อภัยผู้อื่น
6.ฝึกลูกเขียนคำขอบคุณ ตัวเอง ขอบคุณผู้อื่นและขอบคุณสิ่งต่างๆ รอบตัว จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่รู้จักให้คุณค่าต่อตนเองและสิ่งต่างๆ
7.ควรมีเวลาหรรษาของครอบครัว ที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าทำกิจกรรมร่วมกัน ลูกน้อยจะเห็นถึงสิ่งมีค่าหรือคุณค่าของครอบครัว
8.บริการลูกน้อยบ้าง แล้วเริ่มสอนลูกน้อยให้บริการผู้อื่น ช่วยเหลือผู้คนรอบข้างให้ลูกเห็น และเปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลืองานในบ้านเล็กๆ น้อยๆ จนไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
9.พยายามให้ลูกน้อยมีสัมพันธภาพที่ดีเชื่อมโยงกับเพื่อนๆ “เรามีเพื่อนให้คิดถึง เพื่อนก็จะคิดถึงเราด้วย” บอกลูกน้อยถึงสิ่งที่เราคาดหวัง เช่น ไม่ล้อเลียนเพื่อน ไม่แย่งของเพื่อน ชื่นชมเมื่อลูกมีน้ำใจกับเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อน จะทำให้ลูกน้อยสัมผัสถึงความมีคุณค่าของตัวเอง
10.สื่อภาษารักต่อลูกน้อยหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชม การกอดหอม ลูบหัวแตะไหล่ ยกนิ้วให้แสดงความชื่นชม เมื่อลูกทำถูกต้องหรือทำสิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เขียนคำชมหรือการ์ดแสดงความชื่นชมให้ลูก บางคนอาจใช้วิธีเขียนจดหมายถึงลูก ให้ของขวัญ รางวัล การใช้เวลาส่วนตัวร่วมกัน

 

วิธีง่ายๆ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ลูกที่โลกจะรักเขาด้วยค่ะ หลังฝึกลูกน้อยแล้ว ลองมาสังเกตดูนะคะว่าเขามีวิธีซึมซับและมีภาษารักของเขาแบบไหน

ขอบคุณข้อมูลจาก บันทึกคุณแม่

ขอบคุณรุปภาพจากคุณ Khong Kwan

สระผมให้ลูกน้อย

สำหรับลูกแรกเกิด อาจจะยังสระผมด้วยการใช้น้ำเปล่าธรรมดาทำความสะอาดผมลูกก่อนในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังจากนั้นจึงใช้แชมพูสระผมเด็ก แต่หากต้องการใช้แชมพูสระผมเด็กตั้งแต่แรกก็ควรเลือกแชมพูสระผมสำหรับเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ

และวิธีการสระผมก็ทำได้ไม่ยาก ดังนี้ค่ะ

เริ่มจากอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนให้ลำตัวลูกวางตามแนวแขนของคุณ ใช้มือประคองศีรษะลูก โดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วกลางปิดหูลูกไว้ และใช้ศอกหนีบขาลูกไว้ (ตามภาพประกอบ)

ค่อยๆ กวักน้ำขึ้นมาชโลมบนศีรษะ ใช้แชมพูสำหรับเด็กถูเบาๆ แล้วล้างออก

จากนั้นอุ้มขึ้นมาแล้วเช็ดศีรษะให้แห้งด้วยผ้าขนหนูที่เตรียมไว้ ไม่ควรใช้พัดลมเป่าผมลูก แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้แห้งเองเพราะอาจทำให้ลูกเป็นหวัดหรือปอดบวมได้นะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก th.theasianparent.com

ลูกติดแม่มาก

ทารกทุกคนล้วนเจอกับความวิตกกังวลจากการแยกจากและเป็นเรื่องที่ธรรมดาที่เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์แบบนี้ อาการนี้จะเริ่มเมื่อลูกเข้าใจว่าคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้อยู่ข้างๆลูกตลอดเวลา เด็กเริ่มมีอาการกระวนกระวายกับการต้องแยกจากพ่อแม่ ลูกจะเริ่มเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น เมื่อเห็นคุณแม่ใส่รองเท้า ลูกจะเริ่มเข้าใจว่าแม่กำลังจะออกจากบ้านและจากลูกไป อาการเหล่านี้จะพบได้มากที่สุดเมื่อลูกมีอายุระหว่าง 9-18 เดือน

- หากคุณแม่กำลังคิดว่าจะหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูกน้อย ควรหาก่อนที่จะคลอดลูกหรือลูกยังแรกเกิดอยู่ จะช่วยทำให้ลูกมีเวลาเพียงพอที่จะคุ้นเคยกับผู้ช่วย และเมื่อลูกโตขึ้น ลูกน้อยจะไม่ติดแม่มากเกินไป หรือมีความกระวนกระวายเมื่อต้องห่างกัน

- ช่วงวัยนี้ ลดการแยกจากให้น้อยที่สุด

- ฝึกซ้อมด้วยการให้ลูกเป็นผู้เริ่ม ด้วยการให้ลูกคลานไปที่ห้องอื่นด้วยตัวเอง และปล่อยให้ลูกอยู่ที่นั่นสักหนึ่งนาที แล้วคุณแม่ค่อยตามไป

- อย่าลืมบอกลาลูกเสมอ จูบและกอดลูกเมื่อต้องจากลูกไป บอกลูกว่าคุณกำลังจะไปไหน และจะกลับมาเมื่อไหร่ อย่าให้การบอกลายืดเยื้อนัก อย่าหนีแอบบออกไป เพราะลูกจะยิ่งเสียใจ

เคล็ดลับกำจัดกลิ่นและคราบฉี่บนที่นอน

ปัญหาที่เกือบทุกบ้านที่มีลูกน้อยมักจะเจอคือการฉี่รดที่นอน โดยที่ฉี่จะซึมลงไปในฟูกและผ้าปูที่นอน จากนั้นก็ทิ้งกลิ่นไม่พึงประสงค์ไว้บนที่นอน หลายท่านอาจะเข้าใจแค่ซักธรมดากลิ่นก็หายแล้ว แต่บางครั้งไม่ง่ายดายแบบนั้น เลยมีวิธีกำจัดคราบก่อนนำไปซักมาฝากค่ะ

เมื่อมีการฉี่รดที่นอนไม่ควรปล่อยคราบไว้นานเกินไป โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายดังนี้ ผ้าขนหนู น้ำส้มสายชู ทิชชู่แบบหนา แป้งทาตัว ฟอกกี้

วิธีดังต่อไปนี้

1. ใช้ผ้าขนหนูกับทิชชู่ซับคราบก่อน

2. นำผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาดเช็ดอีกที

3. ฉีดน้ำสัมสายชูที่ผสมน้ำจากฟอกกี้ ทิ้งไว้สักพัก

4. โรยแป้งทาตัว แป้งจะช่วยช่วยดูดซับน้ำและกลิ่น

5. นำไปซักปกติ จากนั้นเอาไปตากแดดเพื่อกำจัดเชื้อโรค

อาจจะดูยุ่งยากไปเพราะบางครั้งการฉี่รดที่นอนเกิดตอนกลางคืน คงไม่ค่อยมีใครอยากทำความสะอาดมากนัก แต่ถ้าเป็นตอนกลางวันหรือตอนบ่าย น่าลองนำวิธีนี้ไปใช้นะคะ

ขอบคุณรูปภาพจาก www.mamaplus.tw

วิธีอุ้มลูกเรอ

คุณแม่หลายท่านคงทราบดีว่า การทำให้ลูกเรอหลังการดื่มนม จะช่วยให้ระบบย่อยในท้องทำงานได้ดีขึ้น เพราะขณะที่ลูกดูดนม ลูกจะกลืนลมเข้าไป และทำให้รู้สึกอึดอัดมากกว่าที่เป็น ดังนั้นการเรอจะช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง และทำให้ท้องว่างที่จะรับนมมากขึ้น ลมที่ติดอยู่ในท้อง อาจนำไปสู่อาการโคลิค (หรือที่คนไทยเราเรียกว่าร้องร้อยวัน) ซึ่งลูกจะปวดมาก

เพียงแค่พาลูกเรอหลังจากการให้นมจากแต่ละเต้าเสร็จ แต่ในกรณีที่ให้นมขากขวด ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมผง ควรพาลูกเรอสามครั้งขณะให้นมแต่ละมื้อ ถ้าลูกมีลมมาก ก็พาลูกเรอบ่อยกว่านั้นได้ค่ะ นอกจากนี้ควรประคองให้ลูกนั่งตรง ๆ หลังมื้อนมเพื่อป้องกันลูกแหวะนมด้วยค่ะ

วิธีอุ้มลูกเรอมี 4 วิธี

  1. อุ้มลูกให้นั่งตรง ๆ พิงอกคุณโดยใช้หัวไหล่และคางของคุณช่วยรับน้ำหนักลูกไว้ ใช้มือหนึ่งประคองคอของลูกและอีกมือตบหลังลูกเบา ๆ

  2. ให้ลูกนั่งตรงๆ บนตักคุณและใช้มือหนึ่งประคองส่วนอกของลูกไว้ เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อยและตบหลังลูกเบาๆ คุณอาจลูบหลังลูกเป็นวงกลมเพื่อกระตุ้นให้เรอด้วยก็ได้ค่ะ

  3. วางลูกคว่ำลงบนตักของคุณ ใช้มือหนึ่งประคองใต้อกลูก ขณะที่อีกมือลูบหลังเป็นวงกลมหรือตบเบา ๆ

  4. ถ้าลูกเรอไม่ออก ลองงอขาลูกขึ้นไปที่หน้าอก วิธีนี้อาจช่วยขับลมออกมาได้ค่ะ

เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งก็คืออย่าปล่อยให้ลูกร้องไห้มากเกินไปก่อนจะให้นมเนื่องจากลูกอาจกลืนลมเข้าไปมาก ระหว่างให้นมก็ควรมีช่วงหยุดพักบ้างสักหนึ่งหรือสองครั้งเพื่อช่วยให้นมย่อยและให้คุณได้พาลูกเรอให้หายแน่นท้อง

เมื่อลูกโตขึ้น ความถี่ในการพาลูกเรอก็จะลดลงค่ะ ทารกที่โตกว่าจะสามารถขับลมออกมาได้เองโดยที่คุณไม่ต้องช่วย

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.tinyzone.tv

แก้ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน

แก้ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน

บ้านไหนมีลูกน้อย 2 คนขึ้นไป ต้องอ่านบทความนี้เลยนะคะ ถ้าบ้านไหนพี่น้องรักกันดี พ่อๆแม่ๆคงปลื้มน่าดู แต่บ้านไหนที่ทะเลาะกันเป็นว่าเล่น บอกเลยว่าปวดหัวไม่เบา แต่อย่าหนักใจไปค่ะ เพราะจริงๆแล้วเป็นธรรมชาติของเด็กๆ ถ้าหากรู้จักวิธีการจัดการได้อย่างถูกต้อง บอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก

  1. ให้ความใส่ใจและใช้เวลากับลูกเฉพาะคน (คุณกับลูก) ทุกคนเท่าเทียมกันในทุกๆวัน วิธีนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็เป็นคนพิเศษสำหรับพ่อและแม่


  2. อย่าเอาลูกมาเปรียบเทียบกันไม่ว่าเรื่องใดๆ และไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่นๆในลักษณะที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า


  3. สนับสนุนให้ลูกแต่ละคนสนใจในกิจกรรมที่แตกต่างกันไป กิจกรรมที่ต่างกันช่วยลดความรู้สึกอิจฉาในหัวใจน้อยๆของลูกลงได้


  4. พยายามให้ลูกๆรับผิดชอบและทำงานร่วมกัน เช่น ช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่ หรือร่วมกันจัดโต๊ะอาหาร พ่อแม่ต้องทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือกันจะทำให้งานสำเร็จ


  5. ใจเย็นเข้าไว้ พยายามแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างลูกๆ คลี่คลายสถานการณ์ แยกแยะเหตุผลให้ลูกเข้าใจ และไม่ใช้มาตรการว่า "เป็นพี่ต้องเสียสละ“

ยังไงลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ModernMom

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Kae Ro Jamjam

ดูแลลูกช่วงหน้าร้อน

อากาศร้อนๆ แบบนี้ ทำให้ลูกน้อยเหงื่อออกได้ง่าย ผิวหนังเกิดการเปียกชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอักเสบผื่นแดง ให้หมั่นเช็ดตัวลูกน้อยและโรยแป้งเพื่อลดความร้อน และทำให้เขารู้สึกสบายตัว หากลูกน้อยมีอาการคัน ให้หาคาลาไมน์ทาในส่วนที่มีผดผื่น อากาศแบบนี้ลูกน้อยอาจจะงอแงได้ง่าย เพราะเด็กรู้สึกไม่สบายตัวอยู่ตลอดเวลา การแก้ไขในเบื้องต้นคือให้ลูกน้อยจิบน้ำบ่อยๆและหมั่นเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิค่ะ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก sanook

ขอบคุณภาพประกอบจากคุณ Prakay Kay

นวดคลายร้อน

ช่วงเดือนเมษายน ลูกน้อยงอแงซะเหลือเกิน มาคลายร้อนให้ลูกน้อยด้วยการนวดกันดีกว่าค่ะ นอกจากจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และช่วยเรื่องระบบการหมุนเวียนของโลหิตแล้ว ขณะที่นวดอยู่นั้น แม่และลูกยังได้สบตากันอีกด้วย การบอกรัก พูดคุย สื่อสารในขณะนั้น ทำให้ลูกน้อยรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัย ส่งผลให้อารมณ์และจิตใจดีนั่นเองค่ะ

ช่วงแรกเกิด- 3 เดือน นวดแบบลูบไล้สัมผัส เพียงแผ่วเบาก็เพียงพอ

เมื่อกล้ามเนื้อลูกเริ่มแข็งแรง เพิ่มน้ำหนักมือในการนวดอีกเล็กน้อย

เลือกช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เช่น หลังจากอาบน้ำตอนเช้า ไม่นวดช่วงที่ลูกหิว หรือ อิ่มใหม่ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก motherandcare

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Sah Nokkasah

การอาบน้ำให้ลูกน้อย

การอาบน้ำให้ลูก เป็นอีกหนึ่งภารกิจ ที่พ่อแม่มือใหม่แอบคิดหนัก การอาบน้ำให้ลูก ถึงแม้จะอาบให้หลายครั้งแล้วก็ตาม แต่บ้างก็กลัวลูกหล่น บ้างกลัวลูกลื่นหลุดมือ หรือ กลัวน้ำจะเข้าหูลูกบ้าง มาดูเคล็ดลับการอาบน้ำให้ลูกน้อยๆ มี 4 วิธีค่ะ

  • การประคองคอลูก ใช้มือข้างที่ถนัดจับตรงต้นคอลูก และใช้ฝ่ามือช้อนประคองศีรษะลูกไว้ โดยที่ลูกหันลำตัวเข้าหาคุณ
  • ป้องกันน้ำเข้าหูขณะสระผม เพียงใช้มือด้านที่ถนัดประคองต้นคอลูกและใช้นิ้วโป้งและนิ้วก้อยของมือด้านเดียวกัน กดพับหูลูกน้อยไว้ แล้วจับหัวลูกให้ต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อให้น้ำไหลย้อนลงไปทางหัว ไม่ไหลลงทางลำตัว
  • ล็อกตัวกันลื่น ใช้แขนข้างที่ถนัดของคุณสอดใต้ศีรษะลูก โดยผ่านตรงช่วงลำคอ ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือสอดผ่านใต้รักแร้ จับล็อกต้นแขนลูกไว้ ไม่ให้ลูกลื่นหลุดมือคุณเวลาอาบน้ำ
  • พลิกตัวทำความสะอาดหลัง ใช้มือข้างที่ถนัดล็อกแขนหนึ่งของลูกไว้ โดยให้แขนรองรับลำตัวบริเวณหน้าอกของลูก จะช่วยให้ลูกอุ่นใจมากขึ้นค่ะ

สอนลูกน้อยรู้จักให้

ลูกวัย 1 - 3 ปี ชอบหวงของ และยังแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นของตน สิ่งไหนเป็นของคนอื่นได้ไม่ดี จึงอาจถูกมองว่าเป็นเด็กไม่รู้จักแบ่งปัน หรือเห็นแก่ตัวได้

เราสามารถปลูกฝังเจ้าหนูวัยซนของเราให้เป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปัน อันเป็นพื้นฐานให้เขาไม่เห็นแก่ตัวเมื่อโตขึ้น ด้วย 5 เรื่องเหล่านี้ได้ค่ะ

1. ฝึกให้ลูกเล่นเป็นกลุ่ม สิ่งสำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นร่วมกับคนอื่น เพราะจะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน อดทน รอคอย โดยการสลับกันเล่น ซึ่งต้องมีเด็กมากกว่า 1 คน สถานที่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น สนามหน้าบ้าน หรือเล่นภายในบ้านก็ได้

แต่การเล่นเป็นกลุ่มแบบนี้ เด็กๆ อาจมีการปะทะกับเพื่อนได้ คุณแม่จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ใช้กติกาในการเล่นว่า ใครมาก่อนได้เล่นก่อน หรือมีการจำกัดเวลาในการเล่น ซึ่งคุณแม่อาจตั้งเวลา มีเสียงกริ่งดัง เพื่อบอกให้เขารู้ว่าหากได้ยินเสียงกริ่งดังให้สลับกับเพื่อน เพื่อฝึกให้เขาเข้าใจการรอคอย และการรู้จักยอมแบ่งปันให้คนอื่นด้วย ไม่เหมือนกับการเล่นคนเดียวค่ะ

2. สะท้อนอารมณ์ลูกเมื่อเขาเจอปัญหา ลูกอาจมีโอกาสไม่ยินยอมพร้อมใจ เสียใจ หงุดหงิด หรือโดนเพื่อนแกล้งได้ หากได้เล่นกันเป็นกลุ่ม คุณแม่ก็ต้องพูดคุยกับเขา ด้วยการสะท้อนอารมณ์ลูก เช่น หนูเสียใจใช่ไหมคะที่เพื่อนต้องเอาของของเขากลับคืนไป การบอกหรือสอนเขาตรงๆ แล้วสะท้อนอารมณ์กลับไปอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าคุณแม่รับรู้ถึงปัญหาของเขา ซึ่งคุณแม่อาจจะเสนอแนวทางให้เขาคิดตามได้ เช่น หนูอยากไปเอาของคืนเลย หรือเอาของชิ้นอื่นไปแลกเปลี่ยนดี หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหมคะ

นอกจากนี้ คุณแม่สามารถสอดแทรกเรื่องการเคารพซึ่งกันและกันได้ด้วย เช่น หนูต้องยอมรับว่าของชิ้นนี้เป็นของเพื่อนนะ หากเราจะไปหยิบ ก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน ซึ่งก็เป็นการฝึกเขาไปในตัวว่าในอนาคตถ้าลูกจะไปหยิบของๆ ใคร ก็ต้องขออนุญาตก่อนเหมือนกัน

3. ให้ลูกรู้จักรับและให้อย่างเหมาะสม ลูกวัย 3 ขวบเริ่มฟังเรารู้เรื่องแล้ว คุณแม่อาจคุยกับเขาว่าของบางชิ้นที่ลูกรักเป็นพิเศษจะไม่แบ่งใครเลยได้ ในขณะที่ของบางชิ้นรักเหมือนกันแต่แบ่งเพื่อนเล่นได้ เพื่อให้เขาแยกแยะได้ว่าของบางอย่างไม่ได้แปลว่าต้องอนุญาตให้ใครยืมได้หมด

ที่สำคัญต้องให้กำลังใจและชมเชยลูกเสมอ เมื่อเขาเริ่มแบ่งปันเป็น เช่น ลูกอาจแบ่งขนมให้คุณแม่เพียงชิ้นเล็กๆ เราก็ชมเขาว่า หนูน่ารักนะคะที่แบ่งขนมให้คุณแม่ด้วย ค่อยๆ จากการที่เขาเริ่มแบ่ง ถึงจะดูแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่เพียงลูกเริ่มทำก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว

4. ไม่เน้นการลงโทษ ไม่ควรตีลูกหรือตำหนิ คุณแม่ควรชมเชยลูกเวลาที่เขารู้จักแบ่งของ แต่ถ้าเขาไม่ยอมแบ่งให้ใครเลย อาจใช้วิธีพูดในเชิงว่า คุณแม่ผิดหวังมากเลยที่หนูไม่แบ่งแบบนี้ เพื่อบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีผลต่อความรู้สึกของคุณแม่นะ วิธีนี้ไม่หนักหน่วงเท่าการพูดตำหนิ แต่ได้ผลมากกว่า

5. พาหนูทำกิจกรรมจิตอาสา คุณแม่ลองชวนลูกมาเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาค นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาที่เขาอาจเข้าใจมากขึ้นเมื่อโตกว่านี้ได้

คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมและปลูกฝังเรื่องหล่านี้ให้ลูกได้เป็นระยะ และมีความซับซ้อนมากขึ้นตามช่วงวัย เพื่อเป็นการสร้างรากฐานนิสัยที่ดีงามให้กับลูกค่ะ 

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์