พัฒนาการเด็ก 1 ขวบขึ้นไป
ก้าวเข้าสู่อายุขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งการยืน การเดิน การสื่อสารด้วยภาษา เด็กในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความรักความอบอุ่น และความเข้าใจในทุกด้านที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นใจ และปลอดภัยตลอดเวลา
รับมือกับอารมณ์ปรี๊ด…ของเด็กวัยเตาะแตะ
เชื่อหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว เด็กน้อยก็มีอารมณ์เหวี่ยง วีน ปรี๊ดแตก ได้เช่นกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว อารมณ์เหล่านี้ถือเป็นช่วงหนึ่งในพัฒนาการของลูกน้อย ที่จะแสดงถึงความต้องการบางอย่างให้คนรอบข้างได้รับรู้ว่าเขาต้องการอะไร เช่น ต้องการเรียกร้องความสนใจ เอาแต่ใจ เป็นต้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนเป็นพ่อแม่อย่างเรา ต้องเตรียมการรับมือกับอารมณ์ลักษณะนี้ของลูกน้อยอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาและขจัดอารมณ์ร้าย ๆ เหล่านี้ให้คลี่คลายลงอย่างนุ่มนวลมากที่สุด
ก่อนอื่นตัวคุณพ่อคุณแม่เองต้องเตรียมพร้อมรับอารมณ์วีนแตกของลูกน้อยไว้ก่อน ด้วยการเข้าใจอารมณ์ของเขา มอบความอบอุ่นทางกายและใจ ให้เขารู้สึกผ่อนคลายด้วยการ “สวมกอด” พร้อมกับ “คำพูด” ที่เข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกของเขา เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยออกมาจนลูกน้อยเริ่มมีทีท่าที่สงบลง จากนั้น คุณพ่อคุณแม่ใช้จังหวะนี้ค่อย ๆ “อบรมสั่งสอน” ด้วยการอธิบายตามหลักของเหตุผลที่เข้าใจง่าย และเมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้บ่อย ๆ กับลูก จะช่วยทำให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะปรับอารมณ์และเหตุผลด้วยตัวของเขาเอง
วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถับมือกับอารมณ์ลูกน้อยได้เหมาะสมมากที่สุด และถือเป็นโอกาสในการปรับอารมณ์ของตัวเองและลูกน้อยเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข และเป็นการสร้างนิสัย “ที่ดี” ในอนาคตด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก story.pptvhd36.com
ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ pixabay.com
การเลี้ยงดูลูกน้อยเมื่อเข้าสู่ปีที่สอง
ผ่านช่วงขวบปีแรกมาได้แล้ว คุณแม่มือโปรก็สบายใจได้ระดับหนึ่งแล้วนะคะ เพราะว่านั่นเป็นช่วงที่จะเรียกว่า ยากที่สุดก็ได้ เนื่องจากลูกเล็กยังไม่เข้าใจภาษาของเรา แต่พอเข้าสู่วัยหัดคลาน ลูกเริ่มเข้าใจคำพูดบางคำ แต่อาจจะยังพูดไม่ได้ หรือพูดเป็นคำๆ แต่เขาจะเข้าใจความหมายเวลาที่คุณแม่พูดหรือแสดงท่าทาง เด็กวัยนี้ ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษนะคะ คุณแม่ควรให้ความใกล้ชิด เอาใจใส่ และใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากๆ โดยอาจเลือกกิจกรรมที่สามารถร่วมสนุกกันได้ทั้งครอบครัว หรือชวนลูกๆ ของเพื่อนคุณแม่ที่มีวัยใกล้เคียงกัน แล้วปล่อยให้พวกเขาได้เล่นด้วยโดยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ก็ได้นะคะ และที่สำคัญอีกอย่างคือการเลือกใช้ผ้าอ้อมแบบกางเกงที่มีความยืดหยุ่น กระชับ ก็จะช่วยให้เขามั่นใจทุกกิจกรรมได้เช่นกันค่ะ
นอกจากนั้นเด็กวัยนี้ จะเชื่อฟังคุณแม่เพราะเขายังไม่รู้ ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ยังไงก็พยายามอย่า “ห้าม” มากจนเกินไป ลองปล่อยให้ลูกได้ลองเล่นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ดูบ้าง คุณแม่อาจจะปล่อยเขาเล่นกับสัตว์เลี้ยง ลงไปวิ่งเล่นบนสนามหญ้า หรือช่วยคุณแม่ปลูกต้นไม้บ้าง นอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางความคิด ยังช่วยสร้างเสริมภูมิต้านทานของลูกด้วยค่ะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Nunnapas Paosopa
การหัดเดินของลูกน้อย
เมื่อลูกน้อยเริ่มเข้าสู่วัย 11 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มสนุกกับการหัดเดิน ดังนั้นจึงทุ่มเทพลังไปกับการฝึกเดิน ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบที่หัดเดินของตัวเอง เข่น เก้าอี้เล็กๆ ในบ้านที่ลูกอาจจะไปเกาะหรือพิงโดยไม่รู้ตัวและเก้าอี้ก็เคลื่อนออกไป เมื่อลูกรู้ว่าสามารถทำให้เก้าอี้เลื่อนออกไปได้ ลูกจะสนุกกับการเดินแล้วก้าวเดินตาม คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกก้าวเดินต่อไปด้วยตัวเอง โดยคุกเข่าต่อหน้าลูกและกางมือออกมารับ จากนั้นเรียกลูกโผเข้ามาหา เพื่อให้ลูกเดินต่อไปไกลเพิ่มขึ้นค่ะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Aimorn Amornsuang
พัฒนาการลูกน้อยวัย2ขวบ
เด็กๆ ที่ใกล้วัย 2 ขวบจะเริ่มมีพัฒนาการที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะมองว่าเป็นเด็กดื้อ (Terrible Two) เพราะลูกจะเชื่อฟังเราน้อยลง และมีพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ท้าทายให้คุณแก้ปัญหาด้วย ซึ่งเหตุผลของความดื้อและเจ้าอารมณ์นั้นมักเกิดจากสาเหตุดังนี้
1. อยากรู้อยากเห็น - เพราะหนูกำลังเรียนรู้และค้นพบสิ่งใหม่ๆ ด้วยการลงมือทำ หนูจึงชอบกดปุ่มโทรศัพท์เล่น ดึงหางแมว ใช่ว่าจะเอาแต่ใจตัวเองหรือเอาแต่ซนซะหน่อย
2. เรียกร้องความสนใจ - ด้วยความเหงา เบื่อ เซ็ง ที่พอหนูทำตัวดีแล้วทุกคนก็หายไปทำธุระตัวเองกันหมด สู้กินข้าวหก ทำของแตกไม่ได้ คุณแม่เป็นต้องวิ่งปรู๊ดมาดูก่อนใคร ถึงจะมีเสียงดุว่าตามมาก็ยังดีกว่าอยู่คนเดียว
3. ท้าทาย - ยิ่งตอนหนูอายุ 14-22 เดือน หนูกังวลมากว่าพ่อแม่จะตีจากหนูไป ไม่รักกันเหมือนเคย หนูจึงอยากรู้นักว่าถ้าโดนห้ามก็ยังจะท้าทายทำต่อซะอย่าง แล้วจะมีอะไรหรือเปล่า
4. ไม่มีเหตุผล - หนูอยากทำเพราะอยากทำ ถึงจะยังทำเองไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดทางร่างกาย และมีคนคอยห้ามโน่นห้ามนี่ น่าจะลองให้หนูทำอะไรเองบ้างนะ ถ้าไม่อันตรายเกินไป
5. เหนื่อย - วัยอย่างหนูชอบงีบกลางวัน แต่บางครั้งต้องไปนอกบ้านกับคุณแม่ทั้งวัน เลยพาลหงุดหงิดเอาง่ายๆ
6. หิว - อารมณ์หิวไม่ปราณีใคร หนูต้องการเติมพลังบ่อยครั้งกว่าผู้ใหญ่ อย่ายึดมื้ออาหารตามแบบผู้ใหญ่ ต้องมีมื้อของว่างให้หนูบ้าง
เพียงคุณพ่อคุณแม่เข้าใจพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกน้อย ก็จะสามารถรับมือพฤติกรรมลูกน้อยได้แล้วล่ะค่ะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Tonglak Boonsom
update : 19.09.2560
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย