Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย 4

เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย 4

การนวดสัมผัสทารกแรกเกิด

การนวดสัมผัสเป็นวิธีที่ดีมากในการช่วยให้ลูกน้อยแรกเกิดของคุณผ่อนคลาย อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ทางใจระหว่างคุณกับลูก ทารกแทบทุกคนล้วนต้องการการดูแลเอาใจใส่ อย่ากังวลใจว่าคุณนวดสัมผัสลูกได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ควรเชื่อในสัญชาตญาณของความเป็นแม่ เริ่มต้นด้วยการนวดเบาๆอย่างอ่อนโยนและลูกจะแสดงอาการให้คุณทราบทันทีเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว ส่วนใหญ่ลูกมักจะผลอยหลับไประหว่างการนวดหรือทันทีที่นวดเสร็จแล้ว จึงเหมาะสมที่จะนวดสัมผัสให้ลูกก่อนเวลานอนหรือหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ หากคุณแม่ใช้น้ำมันทาตัวลูกก่อนนวด อย่าลืมว่าลูกอาจเผลอดูดกลืนน้ำมันนั้นเข้าไปได้ ดังนั้นจึงควรใช้แต่น้ำมันบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เช่น น้ำมันดอกทานตะวันหรือน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ซึ่งปลอดภัยและอ่อนโยนสำหรับผิวทารกและที่สำคัญ เป็นน้ำมันที่ใช้รับประทานได้

รู้ทันพัฒนาการเด็ก เสริมสร้างเจ้าตัวเล็กให้แข็งแรง

สำหรับเด็กวัย 1-3 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะไม่เหงา พูดคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะเจ้าตัวเล็กจะเริ่มส่งเสียงพูดเป็นคำยาวๆ หรือบางทีเป็นประโยคเลยก็มี เพื่อช่วยให้ลูกได้ฝึกพูดได้คล่องก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล คุณแม่เองก็อย่าลืมฝึกคุย กับลูกอยู่บ่อยๆ นะคะ บางครั้งอาจพูดบางอย่าง เพื่อให้ลูกตั้งคำถามกลับมา หรือถามคำถามเขาให้เขาได้คิด และตอบ ไม่ว่าจะเป็นคำถามหรือคำตอบว่าอะไร รับรองว่าเรียกรอยยิ้มจากคุณแม่และทุกคนในบ้านได้แน่ๆ และการพูดคุยกันบ่อยๆ ก็ยังช่วยฝึกพัฒนาการพูด ทักษะการคิด ช่วยให้เขากล้าเสนอความคิดเห็นและกล้าแสดงออกได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ต้องการการใช้พลังงานและการเสริมสร้างพัฒนาการทาง ร่างกายที่เหมาะสม การเลือกกีฬาง่ายๆ ก็จะช่วยให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อแขนขาได้เป็นอย่างดีด้วย โดยคุณแม่อาจจะชวนลูกน้อยไปจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน หรือให้เขาปั่นจักรยานสามขาตามขณะที่เราเดินออกกำลัง นอกจากจะช่วยฝึกพัฒนาการด้านร่างกายแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่ได้ใช้เวลาดีๆ กับลูก เพิ่มความอบอุ่นและให้เขา สัมผัสได้ถึงความห่วงใยของคุณแม่ด้วยค่ะ 

พัฒนาการของเด็กแรกเกิด จนถึง 6 เดือน

การฟูมฟักเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดอาจเหมือนวัฏจักรที่วนเวียนอยู่แค่ ตื่น กินนม เปลี่ยนผ้าอ้อม นอน ฟังดูเหมือนจะง่ายแต่กลับเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเหลือเกินสำหรับพ่อแม่มือใหม่ หากแต่ความสุขที่ได้เฝ้ามองลูกน้อยเติบโตและมีพัฒนาการที่น่ามหัศจรรย์อย่างใกล้ชิด ก็ถือว่ามีค่ายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จริงไหมคะ

พัฒนาการทางร่างกาย
6 เดือนแรกของชีวิตน้อยๆ ที่กำเนิดขึ้นมาบนโลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ตลอดเวลา เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เจ้าตัวเล็กจะพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เริ่มรู้จักบังคับแขนขา กำมือ แบมือ หยิบคว้าสิ่งของ หัดยกศีรษะชูขึ้นเวลานอนคว่ำ ไม่ทันไรก็จะกลิ้งตัวและชันตัวนั่งโดยมีสองมือแม่คอยพยุงได้แล้วค่ะ

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรใส่ใจ คือการเสริมพัฒนาการทางร่างกายด้วยการยืดและพับขาของเขาเบาๆ คุณอาจจะใช้ของเล่นเป็นตัวเสริมความสนุกในการออกกำลังกายลูกน้อย โดยถือของเล่นสีสันสดใส มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หลอกล่อให้เขาพยายามขยับตัวตาม ซ้ายทีขวาที ให้เขาพยายามยื่นมือคว้าหยิบ พออายุสัก 2 เดือน เราอาจจะเริ่มฝึกให้เขาทรงตัว ด้วยการประคองให้ยืนมองนู่นมองนี่ไปรอบๆ ลูกน้อยจะได้เรียนรู้โลกใบเล็กรอบตัวเขา เป็นการเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาอีกทางหนึ่ง และเมื่อเจ้าตัวเล็กคอแข็งแล้วก็ควรอุ้มพาเดินโยกไปรอบๆ เพื่อให้เขาประคองศีรษะให้ตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง

รูปภาพ น้องพอเพียง จากคุณ Porpiang Pornpraewa

วิธีบรรเทาอาการคันเหงือกของทารกเมื่อฟันเริ่มขึ้น

ลูกฟันเริ่มขึ้นแล้ว มันไม่เจ็บเลย ขำ ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ … ซะเมื่อไหร่กันล่ะ! สำหรับทารกแล้ว เวลาฟันขึ้นเนี่ยมันทั้งไม่สบายปาก คันเหงือก เจ็บปวด น้ำลายไหลยืด เพื่อให้ทั้งคุณและลูกสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาฟันขึ้นไปให้ได้ จะเป็นการดีเอามาก ๆ ที่คุณต้องเลือกวิธีการบรรเทาความเจ็บปวดจากฟันขึ้นเอาไว้ล่วงหน้า มันช่วยได้นะ และนี่คือวิธีการเหล่านั้นที่เราอยากนำเสนอ

เคี้ยวของเย็น
ให้เคี้ยวอะไรเย็น ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บหรือคันเหงือกเมื่อฟันขึ้นได้เพราะของเย็น ๆ จะช่วยลดอาการบวมของเหงือกและทำให้รู้สึกชา ของเย็น ๆ ที่ว่าก็มีตั้งแต่เคี้ยวยางกัดแช่เย็น หรือนำผัก ผลไม้หั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ ล้างให้สะอาด แช่เย็นแล้วนำมาให้ลูกกัดผ่านถุงตะข่ายวิธีนี้จะช่วยป้องกันอาหารไปติดหลอดลมได้ ข้อควรระวังคือ ของแช่เย็นนั้นไม่ใช่ของแช่แข็ง ที่มีความแข็งและความเย็นมากเกินไปเพราะยิ่งจะทำร้ายเหงือกและเพิ่มเจ็บปวดกว่าเดิม

ยางกัด
ของเล่นยางกัดก็ช่วยบรรเทาอาการเจ็บจากฟันขึ้นได้ มีของเล่นยางกัดวางขายมากมายทั่วไปตามท้องตลาด แต่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังเมื่อจะซื้อยางกัดให้กับลูก เลือกชิ้นที่มีทั้งพื้นผิวหนาและนุ่ม มีสัมผัสที่ต่างกันออกไป อันที่จริงอาจจะไม่เป็นยางก็ได้ อาจจะเป็นพลาสติก ไม้ หรือแม้แต่ผ้าก็ได้ ที่สำคัญคือ ต้องเป็นสิ่งที่ลูกสามารถนำเข้าปากได้ ไม่มีส่วนประกอบใดที่เล็กหรือหลุดออกมาได้ หมายเหตุสำหรับคุณพ่อคุณแม่ คือ เด็กมักจะเอาอะไรก็ตามเข้าปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากฟันขึ้น อันที่จริงนี่ไม่ใช่สิ่งที่แย่ตราบเท่าที่ของที่ลูกเคี้ยวและดูดนั้นสะอาดและไม่มีอันตรายว่าจะทำให้ลูกติดคอ

พฤติกรรมของเด็กทารกวัย 1 เดือน

ทารกวัย 1 เดือนจะเริ่มมีพฤติกรรมตอบสนองต่อการอุ้มของพ่อและแม่

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เมื่อแม่อุ้ม การขยับแขนขา การแสดงสีหน้าของทารกจะดูนุ่มนวล เหมือนรอคอยให้แม่เห่กล่อม แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นพ่ออุ้ม

สีหน้าและการขยับแขนขาจะเปลี่ยนไปเป็นแบบแข็งๆขืนๆ เหมือนกับรู้ว่า

ถ้าพ่ออุ้มจะมีการหยอก เล่น ลูกเริ่มเรียนรู้ว่าพ่ออุ้มไม่เหมือนแม่ พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าทารกเล็กๆ ก็เริ่มมีการพัฒนาของสมองส่วนความจำแล้ว

เมื่อทารกอายุครบเดือน แต่ละคนจะแสดงลักษณะเฉพาะตัวให้เห็นมากขึ้น เช่น เป็นเด็กที่ร้องแล้วปลอบให้หยุดยาก หรือเป็นเด็กที่กินแล้วเอาแต่นอน พ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกจะสังเกตและตอบสนองลูกได้ตามลักษณะของลูก แต่โดยทั่วไปแล้วทารกที่ครบเดือนส่วนใหญ่จะร้องไห้มากขึ้นกว่าช่วงที่เพิ่ง
แรกเกิด ทั้งนี้เพราะระบบประสาทมีความสมบูรณ์ขึ้น รู้ร้อนรู้หนาวมากขึ้น 
แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กโยเยงอแงน้อยลงคือ การที่ทำให้เขารู้สึกสบายตัว อากาศถ่ายเท ไม่เหนอะหนะ รู้สึกแห้งสบาย ก็จะทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดีได้ทั้งวันเลยค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Israpahp Nooduang

ฝึกลูกวัย 1 ขวบนอนให้เป็นเวลา

การนอนยากหรือไม่ยอมนอนเป็นปัญหาใหญ่ของลูกวัยนี้ แถมยังชอบตื่นตอนกลางคืนทำเอาคุณพ่อคุณแม่ตาโหล เรื่องแบบนี้ต้องฝึกหัด เพราะส่งผลต่อระเบียบวินัยในอนาคตด้วย

  • ควรบอกลูกล่วงหน้าสักหน่อยเพื่อเป็นการเตือนว่า ใกล้จะถึงเวลานอนของหนูแล้ว เก็บของเล่นได้แล้วนะ เพื่อไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกพรากไปจากของที่เล่นอยู่ และควรพาเข้านอนในเวลาเดียวกันเป็นประจำเพื่อความเคยชิน

  • ถ้าลูกเป็นเด็กช่างวิตกกังวลหรือดูว่าจิตใจว้าวุ่น หวาดระแวง และหาทางออกด้วยการดูดนิ้ว ดูดขวดนม หรือกอดตุ๊กตาไว้แน่น เพื่อช่วยให้ตัวเองรู้สึกเพลิน ต้องอนุโลมยอมให้ลูกทำแบบนั้น เพราะเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมลูกก็จะเลิกได้เอง

  • จัดตารางเวลานอนกลางวันของลูกให้เหมาะสม เช่น ถ้าการนอนตอนบ่ายค่อนไปตอนเย็นก็ให้เลื่อนเวลามานอนตอนสายๆ แทน เด็กวัยนี้ต้องการนอนหลับในตอนกลางวันประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่ต้องการการนอนตอนกลางคืนถึง 11-12 ชั่วโมง

  • พยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้ดูสบายๆ สงบเงียบ เช่น ถ้าใกล้ถึงเวลานอนของลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรที่จะปิดทีวีแล้วพาลูกเข้านอน หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ในห้องนอน

  • ให้ลูกเข้าห้องน้ำตอนกลางวันสม่ำเสมอ เพื่อกลางคืนลูกจะได้ไม่ตื่นเข้าห้องน้ำบ่อยๆ แต่ถ้าหากลูกยังไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ 100% ก็ควรเลือกใส่ผ้าอ้อมที่ซึมซับได้ดี เพื่อทำให้ลูกน้อยรู้สึกแห้ง และหลับสนิทตลอดคืน

  • ถ้าลูกกลัวต้องปลอบโยนและช่วยเหลือลูก เช่น ถ้ากลัวความมืดก็เปิดไฟสลัวๆ ทิ้งไว้ และควรพูดให้ความมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ถ้าหนูกลัวก็เรียกได้พ่อแม่ได้ยินเสียงจะรีบเข้ามาหาทันที

  • ก่อนเข้านอนจัดการธุระของลูกให้เรียบร้อย เข้าห้องน้ำแปรงฟันหรือฉี่ให้เสร็จ และต้องแน่ใจว่าลูกไม่หิว หนาวหรือร้อนเกินไป

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Amp Chachamon

กระเพาะของทารก วันที่ 1-10

ภาพนี้แสดงขนาดโดยเฉลี่ยของกระเพาะทารก และปริมาณน้ำนมที่สามารถรับได้หลังคลอด จากภาพนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมน้ำนมเหลืองหรือหัวน้ำนม ซึ่งมีปริมาณไม่มาก สามารถทำให้ทารกแรกคลอดอิ่มได้

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยยังพบอีกว่าในวันที่ 1 กระเพาะเล็ก ๆ ของทารกไม่มีความยืดหยุ่นมากเท่ากับวันถัดมา

พยาบาลจำนวนมากมายได้เรียนรู้เรื่องนี้ด้วยวิธีที่ไม่ค่อยโสภาเท่าไร คือวันแรกที่พยาบาลป้อนนมขวดแค่หนึ่งหรือสองออนซ์ ทารกจะอาเจียนนมส่วนใหญ่ออกมา ผนังของกระเพาะทารกแรกคลอดยังมีกล้ามเนื้อที่กระชับแน่น จึงดันน้ำนมส่วนเกินออกมา แทนที่จะขยายออกเพื่อรองรับปริมาณน้ำนม

- ในวันที่ 1 กระเพาะของทารกสามารถรับน้ำนมได้ประมาณ 1/6 ถึง 1/4 ออนซ์ (5-7 มล.) ต่อการกินนมหนึ่งครั้ง ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจเลยว่า น้ำนมเหลืองในเต้านมของแม่ก็จะมีปริมาณเท่านี้เช่นกัน

- เมื่อถึงวันที่ 3 ทารกได้กินนมปริมาณน้อย ๆ เป็นเวลาหลาย ๆ ครั้งแล้ว กระเพาะก็จะขยายขึ้นจนมีขนาดเท่ากับลูกปิงปอง

- เมื่อถึงวันที่ 10 จะมีขนาดเท่า ๆ กับไข่ไก่ฟองใหญ่

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า ถ้าจะเพิ่มปริมาณนมทุกครั้งที่ให้ทารกกิน เพื่อขยายกระเพาะได้เร็วขึ้นทำได้หรือไม่ ตอบเลยว่าเป็นความคิดที่ผิดนะคะ เพราะถือว่าเป็นการสร้างนิสัยการกินที่ผิดให้กับเด็ก และอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้

Tips : ทารกในช่วงวัยนี้จะถ่ายวันละ 3-4 ครั้ง และถือว่าผิวบริเวณก้นยังคงมีความบอบบาง ผ้าอ้อมที่เลือกใช้ควรมีความนุ่ม และสามารถซึมซับได้ดี

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก breastfeedingthai.com

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์

เคล็ดลับคุณแม่ที่เกี่ยวข้อง