Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย

เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย

เมื่อลูกฉี่ใส่ผ้าอ้อม หรือผ้าอ้อมรั่วซึม สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่หากเรารู้วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อม จากเรื่องยากๆ จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ยุ่งยากอีกต่อไปค่ะ

เสริมสมาธิให้ลูกน้อย

เสริมสมาธิให้ลูกน้อย

สำหรับบ้านไหนที่มีปัญหาลูกน้อยสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้นะคะ

1. ก่อนอื่นเลย พ่อแม่ต้องใจเย็น ไม่ดุ ไม่โกรธ แต่เลือกสนใจพฤติกรรมที่ดีของลูกแทน ให้คำชม กอด ทำให้ลูกรู้สึกดีต่อตัวเอง

2. จัดเวลาทำกิจวัตรให้ลูกตรงกันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้ลูกสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ดีขึ้นนะคะ

3. จัดกิจกรรมที่ช่วยปรับยืดสมาธิของลูก เช่น ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี ต่อตัวต่อ เป็นต้น

4. ให้ลูกทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ เพิ่มสมาธิ ลูกน้อยจะจดจ่อกับสิ่งที่เรามอบหมายให้ และอย่าลืมให้รางวัลเป็นคำชมและกำลังใจแก่ลูกน้อยด้วยนะคะ

5. เพิ่มสมาธิด้วยดนตรี เช่น สอนให้ปรบมือเข้าจังหวะ กระโดดเต้นตามเพลง หรือให้โจทย์ลูกในการฟังเพลง เช่นลองดูสิ ว่าตรงท่อนนี้ ในเพลงตบมือทั้งหมดกี่ครั้ง

6. ให้สบตาลูกเวลาพูดคุย ทำให้ลูกรู้จักสบตากับผู้อื่น และเกิดสมาธิกับผู้ที่สนทนาด้วยมากขึ้น

7. ให้ลูกมีอิสระในการสำรวจ แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ในขอบเขตที่เหมาะสม ให้เขาเรียนรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือไม่ได้ บอกหรือห้ามให้ชัดเจน

8. ไม่ใส่ใจหากลูกซนมาก หรือเดินหนีไปก่อน ถ้ารู้สึกโมโห และควบคุมตนเองไม่ได้

9. หากิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ชวนต่อบล็อกไม้ อ่านนิทานให้ลูกฟัง เป็นต้น

10. แยกลูกออก ถ้าลูกทะเลาะหรือทำร้ายคนอื่น ให้เขานั่งเงียบๆคนเดียวจนกว่าจะสงบลง แล้วค่อยพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และผลของพฤติกรรมนั้นๆ

11. ใช้ความอดทนกับลูก ให้ความรักอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ค่อยๆปรับแก้ไข รับรองว่าลูกจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ motherandcare

ขอบคุณรุปภาพจากคุณ Nana Jittung

10 วิธีเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกเป็นที่รัก

10 วิธีเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกเป็นที่รัก

วิธีการแสดงความรักนั้นต้องอาศัย การเรียนรู้ ซึ่งมากกว่าการเลี้ยงดูเฉพาะทางกาย ลูกน้อยก็จะแบ่งปันความรักสู่คนอื่นๆ หรือโลกรอบตัวเขาได้เขาต้องเรียนรู้การเป็นผู้ได้ความรักก่อน 10 วิธีเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกเป็นที่รัก คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้

1.“รักนะแต่ไม่ตามใจ” นั่นคือรักลูกน้อยอย่างมีขอบเขต ไม่ตามใจจนเกินไป เด็กทุกคนยังต้องการการกำกับโดยผู้ใหญ่อย่างมีเหตุผลและมีความหนักแน่นมั่นคงในกฎกติกา แต่ก็ไม่ควรห้ามมากเกินไป จนลูกขาดอิสระ
2.อย่ากลัวการที่ลูกแสดงอารมณ์ เพราะนั่นเป็นเพียงสิ่งที่ลูกต้องการแสดงให้เรารู้ว่า ข้างในใจเขาเป็นอย่างไร ควรยอมรับอารมณ์ลูกที่เกิดขึ้น สังเกตอารมณ์เขาจากสีหน้าท่าทาง สะท้อนเป็นคำพูดให้เขาเห็นว่าเราสังเกต เช่น “แม่รู้ว่าลูกโกรธ” กระตุ้นให้ลูกมีการพูดคุยสื่อสารและแก้ข้อขัดแย้งทางบวก โดยการเปิดใจคุยกับลูกน้อย รับฟังลูกน้อยโดยไม่ตัดสินถูกผิด
3.ให้เกียรติลูกน้อย ไม่ตำหนิ ประจาน หรือ ว่ากล่าวลูกต่อหน้าผู้อื่น รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อย แล้วลูกจะรู้จักให้เกียรติและรับฟังความเห็นของผู้อื่น
4.อ่อนโยนกับลูกน้อย พูดคุยกับลูกน้อยอย่างนุ่มนวล ไม่หยาบคาย สัมผัสลูกอย่างนุ่มนวล ปลอบโยน แล้วลูกจะอ่อนโยนกับผู้อื่น และจะแบ่งปันความรู้สึกหรือประสบการณ์เหล่านี้สู่ผู้อื่นได้
5.รู้จักขอโทษลูกน้อย เมื่อพ่อแม่เผลอทำสิ่งไม่ดีหรือแสดงอารมณ์ใส่ลูก จะทำให้ลูกเรียนรู้การรับผิดและการให้อภัยผู้อื่น
6.ฝึกลูกเขียนคำขอบคุณ ตัวเอง ขอบคุณผู้อื่นและขอบคุณสิ่งต่างๆ รอบตัว จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่รู้จักให้คุณค่าต่อตนเองและสิ่งต่างๆ
7.ควรมีเวลาหรรษาของครอบครัว ที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าทำกิจกรรมร่วมกัน ลูกน้อยจะเห็นถึงสิ่งมีค่าหรือคุณค่าของครอบครัว
8.บริการลูกน้อยบ้าง แล้วเริ่มสอนลูกน้อยให้บริการผู้อื่น ช่วยเหลือผู้คนรอบข้างให้ลูกเห็น และเปิดโอกาสให้ลูกช่วยเหลืองานในบ้านเล็กๆ น้อยๆ จนไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
9.พยายามให้ลูกน้อยมีสัมพันธภาพที่ดีเชื่อมโยงกับเพื่อนๆ “เรามีเพื่อนให้คิดถึง เพื่อนก็จะคิดถึงเราด้วย” บอกลูกน้อยถึงสิ่งที่เราคาดหวัง เช่น ไม่ล้อเลียนเพื่อน ไม่แย่งของเพื่อน ชื่นชมเมื่อลูกมีน้ำใจกับเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อน จะทำให้ลูกน้อยสัมผัสถึงความมีคุณค่าของตัวเอง
10.สื่อภาษารักต่อลูกน้อยหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชม การกอดหอม ลูบหัวแตะไหล่ ยกนิ้วให้แสดงความชื่นชม เมื่อลูกทำถูกต้องหรือทำสิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เขียนคำชมหรือการ์ดแสดงความชื่นชมให้ลูก บางคนอาจใช้วิธีเขียนจดหมายถึงลูก ให้ของขวัญ รางวัล การใช้เวลาส่วนตัวร่วมกัน

 

วิธีง่ายๆ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ลูกที่โลกจะรักเขาด้วยค่ะ หลังฝึกลูกน้อยแล้ว ลองมาสังเกตดูนะคะว่าเขามีวิธีซึมซับและมีภาษารักของเขาแบบไหน

ขอบคุณข้อมูลจาก บันทึกคุณแม่

ขอบคุณรุปภาพจากคุณ Khong Kwan

5 ขั้นตอนการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณแม่มือใหม่

เมื่อลูกฉี่ใส่ผ้าอ้อม หรือผ้าอ้อมรั่วซึม สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก แต่หากเรารู้วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อม จากเรื่องยากๆ จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ยุ่งยากอีกต่อไปค่ะ

  1. อุปกรณ์อย่างแรกคงหนีไม่พ้นผ้าอ้อม แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจำขึ้นใจคือเปลี่ยนผ้าอ้อมทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ดังนั้นอุปกรณ์คู่มือ ทั้งผ้าอ้อมและผ้านุ่มชุ่มชื่น ผ้าขนหนู ครีมกันผื่นผ้าอ้อม (หากจำเป็น) ควรเตรียมให้พร้อมและมีไว้หลายๆ จุดในบ้าน รวมทั้งในกระเป๋าถือของคุณแม่ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมจะได้ไม่ต้องวิ่งวุ่นหาให้เสียเวลาค่ะ ซึ่งในปัจจุบันนี้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปพยายามพัฒนาให้ใส่ง่ายขึ้น เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

  2. เบนความสนใจลูกน้อยดีกว่าจับให้เขานั่งอยู่นิ่งๆ ซึ่งเป็นการยากมากที่ลูกน้อยจะอยู่เฉย ลองดึงความสนใจด้วยการร้องเพลง เปิดเพลงให้ฟัง เล่นจ๊ะเอ๋กัน หรือให้ลูกน้อยถือของเล่นชิ้นโปรดไว้ เพื่อให้ลูกจดจ่อสนใจแทน จะทำให้คุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมได้ง่ายขึ้นค่ะ

  3. ก่อนการเปลี่ยนผ้าอ้อมคุณแม่ควรล้างมือก่อน จากนั้นเช็ดอึที่เลอะก้นด้วยทิชชูเปียกหรือผ้าชุบน้ำอุ่น โดยเช็ดออกจากด้านหน้าไปด้านหลัง เช็ดให้เร็วและสะอาดหมดจด ให้ผ้าขนหนูซับก้นลูกให้แห้งสนิทแล้วทาครีมกันผื่นผ้าอ้อม แล้วล้างมือตัวเองด้วยนะคะ เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกชาย ควรหาผ้าขนหนูวางบนช้างน้อยของลูกก่อนเพื่อป้องกันปัสสาวะของลูกพุ่งใส่ค่ะ

  4.  เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย แนะนำว่าให้คุณแม่มือใหม่เตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อน แล้วค่อยอุ้มลูกน้อยขึ้นโต๊ะ เพราะเพียงแค่แวบเดียวที่คุณแม่หันหลังไปหยิบของ ลูกน้อยอาจกลิ้งตกลงมาได้ค่ะ ทางที่ดีแนะนำเปลี่ยนที่พื้นราบเพื่อความปลอดภัยสูงสุดค่ะ

  5. ยิ่งโตลูกน้อยยิ่งแรงเยอะ ถ้าพาไปที่เดิมๆ ลูกจะจำได้ว่าคุณแม่กำลังทำอะไร เขาอาจจะดิ้นและขัดขืนมากขึ้น คุณแม่ควรเปลี่ยนสถานที่บ้าง อาจจะเป็นห้องนั่งเล่น หรือห้องน้ำดูบ้างก็ได้ค่ะ

แนะนำการเลือกผ้าอ้อมสำเร็จรูป

ขนาดของผ้าอ้อมสำเร็จรูปตามวัยของลูกน้อยอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะว่าเด็กแต่ละคนอาจจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าหรือว่าเล็กกว่าวัยของลูกน้อยเองก็ได้

ขนาดของผ้าอ้อมสำเร็จรูปตามวัยของลูกน้อยอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะว่าเด็กแต่ละคนอาจจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า หรือว่าเล็กกว่าวัยของลูกน้อยเองก็ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรเลือกซื้อให้เหมาะสมกับขนาดร่างกายของลูก โดยการเลือกขนาดของผ้าอ้อม คุณแม่จะต้องดูที่น้ำหนักของลูกน้อยที่ระบุไว้บนห่อของฉลากของสินค้า สำหรับเด็กแรกเกิดที่สายสะดือยังไม่หลุด ก็ให้เลือกผ้าอ้อม New Born แต่จะต้องให้สายสะดือหลุดก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นไซต์ S นะคะ

การระบายอากาศของผ้าอ้อมสำเร็จรูป จะมีส่วนช่วยไม่ทำให้ผิวลูกน้อยเกิดอาการแพ้ มาจากการที่ผิวอับชื้น เพราะการที่ลูกน้อยใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปนานๆ จะทำให้ผิวไม่โดนอากาศ ทำให้อับชื้น บริเวณขาหนีบ ร่องก้น การเลือกผ้าอ้อมที่ระบายอากาศได้ดีจะช่วยให้ผิวลูกน้อยสดชื่น ไม่อับชื้นคะ

ความนุ่มผ้าอ้อมสำเร็จรูป จะช่วยลดอาการระคายเคืองของผิวลูกน้อย และยังช่วยลดอาการแพ้ของผิวเด็ก ทำให้ลูกน้อยสบายตัวมากขึ้น หลับสบายทั้งคืน เพราะการนอนหลับของลูกน้อย จะช่วยส่งเสริมให้มีการเจริญเติบโตและมีอารมณ์ที่ดียิ่งขึ้นค่ะ

สำหรับเด็กแรกเกิดขอแนะนำคุณแม่เลือกใช้ MamyPoko Tape (New Born) ซึ่งเป็นผ้าอ้อมแบบเทป ซึ่งมีการออกแบบที่มีการเว้าขอบสะดือ ทำให้ผ้าอ้อมไม่มีการเสียดสีกับสายสะดือของลูกน้อยซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้สายสะดือลูกน้อยอักเสบ และผ้าอ้อมแบบเทปนั้น สามารถปรับระดับให้กระชับพอดีกับตัวของลูกน้อย ทำให้ไม่หลุดง่ายและลูกน้อยสบายตัวค่ะ

สระผมให้ลูกน้อย

สำหรับลูกแรกเกิด อาจจะยังสระผมด้วยการใช้น้ำเปล่าธรรมดาทำความสะอาดผมลูกก่อนในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังจากนั้นจึงใช้แชมพูสระผมเด็ก แต่หากต้องการใช้แชมพูสระผมเด็กตั้งแต่แรกก็ควรเลือกแชมพูสระผมสำหรับเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ

และวิธีการสระผมก็ทำได้ไม่ยาก ดังนี้ค่ะ

เริ่มจากอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนให้ลำตัวลูกวางตามแนวแขนของคุณ ใช้มือประคองศีรษะลูก โดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วกลางปิดหูลูกไว้ และใช้ศอกหนีบขาลูกไว้ (ตามภาพประกอบ)

ค่อยๆ กวักน้ำขึ้นมาชโลมบนศีรษะ ใช้แชมพูสำหรับเด็กถูเบาๆ แล้วล้างออก

จากนั้นอุ้มขึ้นมาแล้วเช็ดศีรษะให้แห้งด้วยผ้าขนหนูที่เตรียมไว้ ไม่ควรใช้พัดลมเป่าผมลูก แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้แห้งเองเพราะอาจทำให้ลูกเป็นหวัดหรือปอดบวมได้นะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก th.theasianparent.com

เล่นตามวัยให้ฉลาด

เล่นตามวัยให้ฉลาด

การเรียนรู้จากการเล่น ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาการสมองได้ดี แถมยังช่วยให้ลูกน้อยสนุก แทบไม่รู้ตัวเลยทีเดียวว่ากำลังเรียนรู้ผ่านการเล่นอยู่ สำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิด ถึง 4เดือน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านสมอง ร่างกาย และภาษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. อ่านหนังสือนิทาน… ทำหน้าตลกๆ จั๊กจี้เอวเจ้าตัวน้อย

  2. คอยเลื่อนสิ่งของให้อยู่ตรงหน้าเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะของเล่นสีสด

  3.  ร้องเพลงง่ายๆ ที่เนื้อเพลงเป็นคำคล้องจอง

  4. พูดบรรยายทุกสิ่งที่คุณและลูกกำลังทำ เช่น เรากำลังจะอาบนํ้ากันนะแม่จะถอดเสื้อให้ลูก เสื้อ ของหนูสีชมพูสวยไหมเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

เห็นไหมคะ ว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็กๆได้เลย

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Champ Murinho

วิธีอุ้มลูกเรอ

คุณแม่หลายท่านคงทราบดีว่า การทำให้ลูกเรอหลังการดื่มนม จะช่วยให้ระบบย่อยในท้องทำงานได้ดีขึ้น เพราะขณะที่ลูกดูดนม ลูกจะกลืนลมเข้าไป และทำให้รู้สึกอึดอัดมากกว่าที่เป็น ดังนั้นการเรอจะช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง และทำให้ท้องว่างที่จะรับนมมากขึ้น ลมที่ติดอยู่ในท้อง อาจนำไปสู่อาการโคลิค (หรือที่คนไทยเราเรียกว่าร้องร้อยวัน) ซึ่งลูกจะปวดมาก

เพียงแค่พาลูกเรอหลังจากการให้นมจากแต่ละเต้าเสร็จ แต่ในกรณีที่ให้นมขากขวด ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมผง ควรพาลูกเรอสามครั้งขณะให้นมแต่ละมื้อ ถ้าลูกมีลมมาก ก็พาลูกเรอบ่อยกว่านั้นได้ค่ะ นอกจากนี้ควรประคองให้ลูกนั่งตรง ๆ หลังมื้อนมเพื่อป้องกันลูกแหวะนมด้วยค่ะ

วิธีอุ้มลูกเรอมี 4 วิธี

  1. อุ้มลูกให้นั่งตรง ๆ พิงอกคุณโดยใช้หัวไหล่และคางของคุณช่วยรับน้ำหนักลูกไว้ ใช้มือหนึ่งประคองคอของลูกและอีกมือตบหลังลูกเบา ๆ

  2. ให้ลูกนั่งตรงๆ บนตักคุณและใช้มือหนึ่งประคองส่วนอกของลูกไว้ เอนตัวลูกไปข้างหน้าเล็กน้อยและตบหลังลูกเบาๆ คุณอาจลูบหลังลูกเป็นวงกลมเพื่อกระตุ้นให้เรอด้วยก็ได้ค่ะ

  3. วางลูกคว่ำลงบนตักของคุณ ใช้มือหนึ่งประคองใต้อกลูก ขณะที่อีกมือลูบหลังเป็นวงกลมหรือตบเบา ๆ

  4. ถ้าลูกเรอไม่ออก ลองงอขาลูกขึ้นไปที่หน้าอก วิธีนี้อาจช่วยขับลมออกมาได้ค่ะ

เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งก็คืออย่าปล่อยให้ลูกร้องไห้มากเกินไปก่อนจะให้นมเนื่องจากลูกอาจกลืนลมเข้าไปมาก ระหว่างให้นมก็ควรมีช่วงหยุดพักบ้างสักหนึ่งหรือสองครั้งเพื่อช่วยให้นมย่อยและให้คุณได้พาลูกเรอให้หายแน่นท้อง

เมื่อลูกโตขึ้น ความถี่ในการพาลูกเรอก็จะลดลงค่ะ ทารกที่โตกว่าจะสามารถขับลมออกมาได้เองโดยที่คุณไม่ต้องช่วย

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.tinyzone.tv

เพลงกล่อมลูก

อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทราบกันว่า แต่ละชาติ แต่ละประเทศ จะมีเพลงท้องถิ่น หรือเพลงประจำชาติอยู่ เพลงกล่อมลูกก็เป็นหนึ่งในจำนวนบทเพลงเหล่านั้นเช่นกัน ถือเป็นบทเพลงที่เก่าแก่ มีอายุยาวนานมากที่สุด นับตั้งแต่ที่มนุษย์ยังไม่มีภาษาพูด และยังไม่รู้จักการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเริ่มจากการเห่กล่อมด้วยกิริยาท่าทาง การโอบอุ้ม-โอบกอดลูกอย่างรักใคร่ทะนุถนอม และออกเสียงอือๆ ออๆ ในลำคอไปด้วย จากนั้นจึงค่อยๆพัฒนาเป็นเสียงสูงเสียงต่ำคล้ายเสียงดนตรี และในที่สุด เมื่อมีภาษาพูด เพลงกล่อมลูกแบบง่ายๆก็เกิดขึ้นตามภาษาพูดของแต่ละชนชาติต่างกันไป

นอกจากนั้นเพลงกล่อมลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของการได้ยินให้กับทารกในครรภ์ เพราะเสียงเพลงจากแม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้โดยตรงตั้งแต่เด็กยังอยู่ใน ท้องแม่ ความสูงต่ำของทำนองเพลงจะกระตุ้นให้เซลล์สมองที่ทำหน้าที่รับเสียงในแต่ละ ย่านความถี่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้เด็กมีความสามารถในการแยกแยะความสูงต่ำของเสียงได้ นี่คือรากฐานของพัฒนาการด้านภาษานั่นเอง

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Anchidtha Jintaprasat

แก้ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน

แก้ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน

บ้านไหนมีลูกน้อย 2 คนขึ้นไป ต้องอ่านบทความนี้เลยนะคะ ถ้าบ้านไหนพี่น้องรักกันดี พ่อๆแม่ๆคงปลื้มน่าดู แต่บ้านไหนที่ทะเลาะกันเป็นว่าเล่น บอกเลยว่าปวดหัวไม่เบา แต่อย่าหนักใจไปค่ะ เพราะจริงๆแล้วเป็นธรรมชาติของเด็กๆ ถ้าหากรู้จักวิธีการจัดการได้อย่างถูกต้อง บอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก

  1. ให้ความใส่ใจและใช้เวลากับลูกเฉพาะคน (คุณกับลูก) ทุกคนเท่าเทียมกันในทุกๆวัน วิธีนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็เป็นคนพิเศษสำหรับพ่อและแม่


  2. อย่าเอาลูกมาเปรียบเทียบกันไม่ว่าเรื่องใดๆ และไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กอื่นๆในลักษณะที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า


  3. สนับสนุนให้ลูกแต่ละคนสนใจในกิจกรรมที่แตกต่างกันไป กิจกรรมที่ต่างกันช่วยลดความรู้สึกอิจฉาในหัวใจน้อยๆของลูกลงได้


  4. พยายามให้ลูกๆรับผิดชอบและทำงานร่วมกัน เช่น ช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่ หรือร่วมกันจัดโต๊ะอาหาร พ่อแม่ต้องทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือกันจะทำให้งานสำเร็จ


  5. ใจเย็นเข้าไว้ พยายามแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างลูกๆ คลี่คลายสถานการณ์ แยกแยะเหตุผลให้ลูกเข้าใจ และไม่ใช้มาตรการว่า "เป็นพี่ต้องเสียสละ“

ยังไงลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก ModernMom

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Kae Ro Jamjam

การสังเกตการดิ้นของลูกในครรภ์

คุณแม่หลายท่านที่เริ่มตั้งครรภ์นั้นอาจจะมีข้อสงสัยว่าตัวเองนั้นมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ เรามาดูสัญญาณเตือนภัยกันค่ะ

ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือนนั้นมักจะมีอาการแปลกๆ หนึ่งในอาการที่บ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด คือการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์

  1. ใน 1 ชั่วโมงหรือหลังทานอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้สึกว่าลูกดิ้นเกิน 10 ครั้งต่อวัน 

  2. อาการดิ้นของลูกบ่งบอกถึงความแข็งแรงของลูก บ่งบอกว่าลูกยังมีชีวิตอยู่

  3. เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น ลูกจะดิ้นน้อยลง เนื่องจากตัวลูกใหญ่คับครรภ์ เลยทำให้พื้นที่ที่จะดิ้น ลดน้อยลงไปด้วย

  4. ลูกจะดิ้นน้อยลงตั้งแต่อายุครรภ์คุณแม่ได้ประมาณ 32 สัปดาห์ 

  5. วิธีนับการดิ้นของลูก คุณแม่สามารถนับได้จากหลังทานอาหารประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมงลูกต้องดิ้นประมาณ 3 ครั้ง ถ้าลูกมีอาการดิ้นน้อยกว่านี้ หรือไม่มีอาการดิ้นหลายชั่วโมง ควรรีบไปหาหมอให้ตรวจเช็คทันที เพราะอาจคลอดก่อนกำหนดได้ 

คุณแม่คนไหนที่ลูกน้อยดิ้นบ่อยๆก็สบายใจได้เลยค่ะ เพราะลูกน้อยยิ่งดิ้นบ่อยแสดงว่าเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยของคุณนั้นยิ่งแข็งแรงมากค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ maerakluke.com

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์

เคล็ดลับคุณแม่ที่เกี่ยวข้อง