Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

พัฒนาการแรกเกิด - 1 ปี

พัฒนาการแรกเกิด - 1 ปี

ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึงขวบปีแรก เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพัฒนาการต่าง ๆ ในแต่ละช่วงวัย เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมวัย

ลูกน้อยชอบหยิบของเข้าปาก

เด็กในวัยเล็ก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เป็นช่วงที่มีพัฒนาการเรียนรู้ทั้งด้านสมองและด้านร่างกาย ซึ่งหลายๆพัฒนาการก็มักจะมาพร้อมกับความวุ่นวาย ยิ่งเด็กเล็กๆชอบเอาของเข้าปาก หยิบจับอะไรได้เอาเข้าปากหมด พ่อแม่มักจะเป็นกังวลกลัวว่าของที่เอาเข้าปากจะมีเชื้อโรค เป็นอันตราย กลัวติดคอ หรืออาจจะกลืนลงไปทำให้ต้องร้อนรนพาไปหาหมอ

พฤติกรรมการหยิบจับของเข้าปากนั้นถือว่าเป็นพัฒนาการของเด็ก ซึ่งอาจใช้บรรเทาอาการคันเหงือกเพราะฟันที่กำลังพร้อมจะขึ้น หรือแม้แต่กำลังสนใจของชิ้นนั้นก็นำเข้าปากเหมือนกัน

การหยิบจับของแล้วนำเข้าปากเป็นการเรียนรู้รอบตัวด้วยเช่นกัน ว่าของสิ่งนั้นสีสัมผัสอย่างไรบ้าง แข็งหรืออ่อน และเป็นการฝึกประสาทสัมผัสประสานกันระหว่างตาและกล้ามเนื้อ หากคุณพ่อและคุณแม่รีบนำออกทันทีลูกก็อาจเสียโอกาสการเรียนรู้รอบตัวไปได้เช่นกัน แต่ก็ยกเว้นกรณีที่ของสิ่งนั้นเป็นของอันตราย ไม่ปลอดภัยให้รีบนำออกมา

ทางแก้คือให้แยกสิ่งที่ไม่ต้องการให้ลูกเอาเข้าปากไว้แต่แรก สามารถให้ลูกน้อยกัดของกินเล่น เช่น ขนมปัง หรือ ยางกัดแช่เย็น ซึ่งยางกัดนี้จะช่วยบรรเทาอาการคันเหงือกของลูกน้อยเมื่อฟันกำลังจะขึ้นด้วยค่ะ

ทำไมลูกถึงไม่คลานซักที

คุณแม่หลายท่านคงกังวลว่าทำไมลูกเราถึงไม่คลานซักที มาดูเหตุผลกันค่ะ

พัฒนาการก้าวกระโดด เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มคืบคลานได้เมื่ออายุ 6-7 เดือน อย่างไรก็ดีพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเร็ว บางคนอาจจะช้าหน่อย เริ่มคืบคลานได้ตอน 10 เดือนขึ้นไป หรืออาจพัฒนาการข้ามขั้น ลูกไม่คลานแต่ลุกขึ้นเกาะยืน เกาะเดิน ตั้งไข่ จนเดินได้เอง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ถ้าลูกทำได้ช้ากว่าเกณฑ์มาก แนะนำให้ไปปรึกษาคุณหมอค่ะ

เกณฑ์ที่ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ปกติ
อายุ 6 เดือน           ลูกยังไม่พลิกตัว
อายุ 10 เดือน        เวลาจับนั่งลูกไม่สามารถทรงตัวได้เองเลย
อายุ 12 เดือน        ลูกไม่เหนี่ยวตัวเกาะยืน
อายุ 18 เดือน        ลูกไม่ตั้งไข่หรือเดินเอง
หากลูกน้อยมีเกณฑ์แบบนี้แล้ว อย่าลืมไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อความสบายใจและเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องนะคะ

พัฒนาการของเด็กแรกเกิด จนถึง 6 เดือน

การฟูมฟักเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดอาจเหมือนวัฏจักรที่วนเวียนอยู่แค่ ตื่น กินนม เปลี่ยนผ้าอ้อม นอน ฟังดูเหมือนจะง่ายแต่กลับเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเหลือเกินสำหรับพ่อแม่มือใหม่ หากแต่ความสุขที่ได้เฝ้ามองลูกน้อยเติบโตและมีพัฒนาการที่น่ามหัศจรรย์อย่างใกล้ชิด ก็ถือว่ามีค่ายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จริงไหมคะ

พัฒนาการทางร่างกาย
6 เดือนแรกของชีวิตน้อยๆ ที่กำเนิดขึ้นมาบนโลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ตลอดเวลา เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เจ้าตัวเล็กจะพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เริ่มรู้จักบังคับแขนขา กำมือ แบมือ หยิบคว้าสิ่งของ หัดยกศีรษะชูขึ้นเวลานอนคว่ำ ไม่ทันไรก็จะกลิ้งตัวและชันตัวนั่งโดยมีสองมือแม่คอยพยุงได้แล้วค่ะ

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรใส่ใจ คือการเสริมพัฒนาการทางร่างกายด้วยการยืดและพับขาของเขาเบาๆ คุณอาจจะใช้ของเล่นเป็นตัวเสริมความสนุกในการออกกำลังกายลูกน้อย โดยถือของเล่นสีสันสดใส มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หลอกล่อให้เขาพยายามขยับตัวตาม ซ้ายทีขวาที ให้เขาพยายามยื่นมือคว้าหยิบ พออายุสัก 2 เดือน เราอาจจะเริ่มฝึกให้เขาทรงตัว ด้วยการประคองให้ยืนมองนู่นมองนี่ไปรอบๆ ลูกน้อยจะได้เรียนรู้โลกใบเล็กรอบตัวเขา เป็นการเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาอีกทางหนึ่ง และเมื่อเจ้าตัวเล็กคอแข็งแล้วก็ควรอุ้มพาเดินโยกไปรอบๆ เพื่อให้เขาประคองศีรษะให้ตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง

รูปภาพ น้องพอเพียง จากคุณ Porpiang Pornpraewa

ลูกน้อยชันคอ

ลูกน้อยวัย 4-6 เดือน คงจะอยู่ในช่วงที่กำลังพลิกๆ หงายๆ ใช่ไหมคะ เด็กๆ ในวัยนี้จะเริ่มพลิกควำได้ดี ชันคอได้ดี เพราะกล้ามเนื้อส่วนกลางของลำตัว กล้ามเนื้อคอเริ่มมีความแข็งแรง เมื่อพลิกคว่ำตัวจะสามารถชันคอได้ และเริ่มพลิกตัวหงายได้เอง เวลาอุ้มนั่ง อุ้มพาดบ่า คอจะตั้งตรงได้ ไม่ว่าจะอุ้มลูกท่าไหน ลูกก็จะสามารถชันคอได้ค่ะ แต่ถ้าลูกน้อยมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป และยังชันคอไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อมีปัญหา หรืออาจมีปัญหาเรื่องสมองอ่อนแรง ที่ส่งผลให้พัฒนาการกล้ามเนื้อล่าช้าด้วยนะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Veepachara P M Llsj

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์