เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย
การเลี้ยงเด็กคนนึงให้เจริญเติบโตดูเป็นเรื่องยาก แต่การเลี้ยงให้มีคุณภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่ยากกว่า ดังนั้น เรามีเคล็ดลับในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ ของลูกน้อยให้สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย และอารมณ์มาฝากกันค่ะ
พื้นที่ส่วนตัวของลูกน้อย
พื้นที่ส่วนตัวของลูกน้อย คือการที่คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้เขาได้เป็นเจ้าของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และเปิดโอกาสให้ได้ทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เพียงแต่ในพื้นที่นี้จะต้องเป็นพื้นที่เปิด ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปเยี่ยมเยือนได้ทุกเมื่อค่ะ พื้นที่ส่วนตัวที่ดีของลูกน้อยในวัยนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องส่วนตัวอย่างเป็นสัดส่วน แต่คุณแม่สามารถเลือกมุมใดมุมหนึ่งของบ้านจัดพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกน้อย โดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้นะคะ
1. ความปลอดภัย
ควรเลือกมุมที่เป็นพื้นที่เปิด ไม่เป็นมุมอับ ไม่ใกล้ระเบียง บันได มอบหมายให้ลูกเป็นคนจัดการดูแลพื้นที่ด้วยตัวเอง ระหว่างที่ลูกใช้พื้นที่ส่วนตัวนี้ ก็ยังคงอยู่ในสายตาคุณแม่ และไม่ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย
2. ไม่สร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไป
ขึ้นชื่อว่าพื้นที่ส่วนตัวลูกน้อยของเราย่อมต้องการความเป็นส่วนตัวในการทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ คุณแม่จึงไม่ควรสร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจนเกินไปให้กับลูก แต่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นในสิ่งที่อยากเล่น และได้มีเวลาเป็นของตัวเองจริงๆ
3. สร้างพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้
เลือกหนังสือนิทาน หนังสือการ์ตูน หรือของเล่นที่ลูกน้อยชอบ นำมาจัดวางในพื้นที่ส่วนตัวให้ลูกน้อยได้ ซึ่งจะช่วยเป็นอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพและตรงใจลูกมากขึ้นเพียงแต่ต้องปล่อยให้ลูกน้อยสร้างสรรค์กระบวนการเล่นด้วยตัวเอง
4. แม่พร้อมเสมอเมื่อหนูต้องการ
แม้ลูกน้อยจะมั่นใจในตัวเองแค่ไหน แต่เขาก็ไม่ได้อยากอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองตลอดเวลาค่ะ เพราะวัยนี้ก็ยังต้องการให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ข้างๆ คอยรับฟัง พูดคุยด้วยอยู่เสมอ เพียงแต่จะเกิดขึ้นในจังหวะเวลาลูกน้อยของเราจะเป็นคนเอ่ยปากและเข้าหาคุณแม่เองค่ะ
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Chanaporn Poninta
5 เคล็ดลับแสนสนุกช่วยให้ทารกหัดคลาน
เมื่อลูกน้อยเริ่มนั่งได้ในวัย 4-7 เดือน พัฒนาการต่อไปที่สำคัญ คือการคลานของลูกน้อย แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนช่วยให้ลูกน้อยคลานได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
1. สร้างอุโมงค์จากลังกระดาษ นำลังกระดาษมาทำเป็นหลังคาบ้าน ให้เด็กลอดผ่านไปผ่านไป เด็กๆจะตื่นเต้นกับอุโมงค์จำลองและคลานไปมาอย่างสนุกสนาน หรือคุณพ่อคุณแม่จะรอจ๊ะเอ๋อยู่ที่ปลายอุโมงค์ ก็สร้างความสนุกได้ไม่น้อยเลยค่ะ
2. สร้างค่ายลูกเสือจำลอง ลองนำหมอนหรือหมอนข้าง มาวางเป็นเครื่องกีดขวางระหว่างการคลาน คุณจะเห็นลูกสนุกสนานที่ได้หลบสิ่งกีดขวางต่างๆ
3. เล่นลูกบอล กลิ้งลูกบอลที่มีกระดิ่งอยูข้างใน ไกลออกไปจากตัวลูก และให้ลูกน้อยคลานตามลูกบอล ก็เป็นอีกวิธีการกระตุ้นให้ลูกน้อยคลานได้ค่ะ
4. เกมฝึกประสาทสัมผัส ลองวางวัตถุที่ให้สัมผัสต่างกันไว้ติดๆกัน ขณะที่ลูกคลาน เช่น พรมนุ่ม กระสอบ ถุงพลาสติก เด็กจะเรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัส และความแตกต่างของวัตถุไปพร้อมๆกัน
5. แอบของเล่นที่ลูกชอบไว้ แอบบอกใบ้ให้ลูกน้อยนิดหนึ่ง อย่าซ่อนยากเกินไปนักนะคะ ถ้าหากลูกหาของเจอแล้วละก็ ลูกน้อยจะมีกำลังใจการคลานขึ้นอีกเยอะเลยล่ะค่ะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ อาทร กลิ่นสุคนธ์
ความสำคัญของการคลาน
การคลานเป็นพัฒนาการด้านร่างกายที่สำคัญของทารก เพราะเป็นพื้นฐานสู่ขั้นต่อไปก็คือ การเดิน ซึ่งสำหรับการคลานนั้น กล้ามเนื้อแขนและขาจะต้องเคลื่อนไหวสัมพันธ์กัน การคลานจะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้เรื่องการควบคุมตัวเอง รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเรียนรู้คำสั่งของพ่อแม่ และเมื่อลูกคลานได้ นั่นหมายความว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าจะทำงานสัมพันธ์กับสมอง ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางร่างกายของลูก อย่างไรก็ดีพบว่าเด็กจำนวนมากพัฒนาการข้ามขั้น โดยลูกไม่ยอมคลานแต่เกาะยืนและเดินได้เลย
คุณแม่อย่าลืมทำให้ลูกน้อยสบายตัวโดยการเลือกผ้าอ้อมที่ซึบซับดี กระชับตัว เพื่อส่งเสริมให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่นะคะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ กรกต เฉิน
ดูแลผิวก้นลูกให้ปลอดภัยจากผดผื่น
ผิวของลูกน้อย ถือว่าเป็นบริเวณที่มีความบอบบางมาก โดยเฉพาะผิวบริเวณก้นลูกที่ต่อมเหงื่อยังทำงานไม่สมบูรณ์ และโครงสร้างของผิวก็ยังไม่แข็งแรง จึงเป็นเหตุให้ผิวบริเวณก้นลูก มักเกิดผดผื่นขึ้นได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นๆ เรามาดูวิธีดูแลผิวก้นลูกให้ปลอดภัยกันเถอะค่ะ
1.ทำให้ผิ้วก้นลูกที่ใส่ผ้าอ้อมนั้น แห้งอยู่เสมอ โดยหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม เมื่อมีเกิดการเปียกชื้นขึ้น หรือเมื่อลูกอุจจาระทุกครั้ง ก็ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก
2.เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวลูก ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว บำรุงผิวให้เนียนนุ่ม
3.หากบริเวณก้นลูกน้อยเกิดเป็นผื่นผ้าอ้อม ควรทายาให้ที่เหมาะกับความรุนแรงของผื่น เช่น
- ถ้าเป็นผื่นแดงเล็กน้อย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่สะอาดปราศจากเชื้อ และมีส่วนผสมของ zinc oxide ที่ช่วยดูดซับความชื้น
- ถ้าผื่นแดงอักเสบปานกลาง ถึงมาก ควรใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อน เช่น 1% Hydrocortisone ทาบางๆ
- กรณีที่มีผื่นแดง หรือตุ่มน้ำเป็นวงกว้างนานเกิน 3 วัน อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น เชื้อรา Candida หรือเชื้อแบคทีเรีย หากพบว่าเกิดผื่นแดง ควรรีบพาลูกน้อยไปแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Bee Tipsibut
ลูกน้อยตื่นมาสดชื่น
เด็กในวัย 2-3 ปี ช่วงเวลาตื่นนอนตอนเช้าเจ้าตัวน้อยจะรู้สึกสดชื่นสดใสเป็นพิเศษ แต่คุณแม่บางบ้านอาจประสบปัญหาลูกน้อยตื่นยาก ขี้เซา งอแงเวลาตื่นนอน เรามาดูเคล็ดลับทำให้ลูกน้อยตื่นมาสดชื่นกันค่ะ
1. เริ่มจากการพาเข้านอน เด็กเล็กไม่ควรที่จะนอนดึกมากนัก ในวัยนี้เริ่มเรียนรู้และมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เปิดทีวีทิ้งไว้ อาจทำให้ลูกสนใจแสงสีในทีวีมากกว่าห้องนอนอันเงียบสงบนะคะ หรือแม้กระทั่งการเล่นโทรศัพท์มือถือ ทางที่ดีควรปิดทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านและอุปกรณ์สื่อสารที่จะรบกวนการนอนของลูกดีที่สุด
2. เสียงคุณพ่อคุณแม่ทักทาย เสียงอันอบอุ่นด้วยความรักของคุณพ่อคุณแม่ช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดีทั้งก่อนนอนและหลังตื่นนอนได้ ก่อนนอนคุณแม่ส่งนอนด้วยการหัดให้ลูกพูด “ Good night ” โต้ตอบกัน ตื่นเช้ามาคุณแม่ส่งเสียงกระซิบเบาๆ ข้างหูว่า “ Good morning ” อาจจะชักชวนให้ลูกพูดตอบโต้กลับจะช่วยกระตุ้นให้ลูกตื่นนอนอย่างสดชื่นได้นะคะ
3. ปลุกใจด้วยเรื่องราวดีๆ ในช่วงวันหยุดพักผ่อน หากคุณพ่อคุณแม่มีแพลนพาลูกน้อยไปเที่ยวอยู่แล้ว อาจปลุกลูกน้อยด้วยการพูดกิจกรรมที่จะทำในวันนั้น เช่น การสัมผัสลูกเบาๆ ค่อยๆ ลูบไล้ลูกแล้วพูดชักชวนให้ลูกตื่น เพื่อเตรียมตัวเกินทางไปเที่ยว แต่อย่าลืมว่าต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน นุ่มนวล กระตุ้นการตื่นตัวของลูกเล็กน้อยด้วยประโยคปิดท้ายว่า “ใครอยากไปยกมือขึ้น” เท่านี้ก็จะทำให้ลูกตื่นแบบอารมณ์ดีได้ค่ะ
4. เตรียมอาหารเช้าสุดโปรด นอกจากจะทำให้ลูกน้อยอยากตื่นเพราะอาหารแสนอร่อยฝีมือคุณแม่แล้ว การทานอาหารเช้าเป็นสิ่งจำเป็นของเด็กๆ ข้อนี้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจดีอีกด้วยค่ะ
5. เสียงเพลงตื่นตัว เมื่อลูกน้อยได้ยินเพลงโปรดมีหรือจะไม่อยากลุกขึ้นเต้น การกระตุ้นด้วยเสียงเพลงที่ลูกชอบฟังจะทำให้ลูกอารมณ์ดีได้ในช่วงเวลาแรกของการตื่นนอนนะคะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ ชีวิต ดี๊ดี
กิจกรรมเสริมสร้างวินัยให้ลูกน้อย
ลูกน้อยเมื่ออายุได้ 3 ขวบขึ้นไป พ่อๆแม่อาจจะเริ่มสังเกตว่าลูกน้อยเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการกิจวัตรประจำวันของตัวเอง เช่น การนอน การกิน เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกเรียนรู้ และรับผิดชอบในเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเค้า โดยคุณพ่อคุณแม่ จะเป็นคนสำคัญในการช่วยและสอนเจ้าตัวน้อย
1.ให้ลูกน้อยมีส่วนร่วมในการแปรงฟัน ด้วยการพาลูกน้อยไปเลือกแปรงสีฟันที่ชอบ พร้อมอธิบายถึงความสำคัญในการแปรงฟัน โดยเริ่มจากแปรงเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อยดู และให้ลูกน้อยทำตาม
2.อาบน้ำอาจจะไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ แต่การสระผมนี่สิ บางทีเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพ่อๆแม่ๆเลยทีเดียว ก่อนอื่นอาจจะต้องทำให้เด็กเลิกกลัวการสระผมก่อน ลองชวนลูกน้อยให้หัดสระผมเอง ด้วยกิจกรรมสนุกๆ หรือหาหนังสือนิทานเกี่ยวกับการอาบน้ำสระผม เพื่อให้เด็กรู้สึกดีกับการสระผมมากขึ้นก็ได้ค่ะ
3.ฝึกขับถ่าย สอนให้ลูกน้อยเข้าใจถึงระบบขับถ่าย เช่น ทำไมเราถึงต้องขับถ่าย หรือความสำคัญของการขับถ่าย จัดที่สำหรับขับถ่ายให้ลูกน้อยโดยเฉพาะให้เป็นสัดส่วน เช่น หาฝารองนั่งน่ารักๆ โดยให้ลูกน้อยไปเลือกเอง ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจในการเข้าห้องน้ำของลูกน้อยได้ค่ะ
4.สวมเสื้อผ้า หาเสื้อผ้าที่สวมใส่ง่ายๆ ให้เค้าได้ลองใส่ด้วยตัวเอง อาจจะเริ่มจากกางเกงใน กางเกง แล้วค่อยมาหัดใส่เสื้อ แรกๆลูกน้อยอาจจะใส่ผิดด้านบ้าง ก็ค่อยๆสอนกันไปค่ะ
5.ใส่ถุงเท้า-รองเท้า คุณพ่อคุณแม่อาจจะเล่นเกมแข่งกันใส่ถุงเท้า เมื่อลูกสามารถทำได้ก็ควรให้กำลังใจนะคะ
6.ช่วยงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็น การซักผ้า รดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน ถูบ้าน หรือดูแลที่นอนของลูกน้อยเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกน้อยได้ลองทำ อาจจะไม่เรียบร้อย แต่ทำบ่อยๆก็จะทำได้ดีค่ะ
แต่ที่ห้ามลืมเลยก็คือ การให้กำลังใจและคำชมเชยนะคะ ถึงแม้เค้าจะทำไม่สำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะชมลูกน้อยและค่อยๆสอนแบบใจเย็นที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก ลูกรัก
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ น้องมาริโอ้-Good Promchai
update : 19.09.2560
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย