Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย 8

เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย 8

ลูกน้อยตื่นมาสดชื่น

เด็กในวัย 2-3 ปี ช่วงเวลาตื่นนอนตอนเช้าเจ้าตัวน้อยจะรู้สึกสดชื่นสดใสเป็นพิเศษ แต่คุณแม่บางบ้านอาจประสบปัญหาลูกน้อยตื่นยาก ขี้เซา งอแงเวลาตื่นนอน เรามาดูเคล็ดลับทำให้ลูกน้อยตื่นมาสดชื่นกันค่ะ

1. เริ่มจากการพาเข้านอน เด็กเล็กไม่ควรที่จะนอนดึกมากนัก ในวัยนี้เริ่มเรียนรู้และมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เปิดทีวีทิ้งไว้ อาจทำให้ลูกสนใจแสงสีในทีวีมากกว่าห้องนอนอันเงียบสงบนะคะ หรือแม้กระทั่งการเล่นโทรศัพท์มือถือ ทางที่ดีควรปิดทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านและอุปกรณ์สื่อสารที่จะรบกวนการนอนของลูกดีที่สุด

2. เสียงคุณพ่อคุณแม่ทักทาย เสียงอันอบอุ่นด้วยความรักของคุณพ่อคุณแม่ช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดีทั้งก่อนนอนและหลังตื่นนอนได้ ก่อนนอนคุณแม่ส่งนอนด้วยการหัดให้ลูกพูด “ Good night ” โต้ตอบกัน ตื่นเช้ามาคุณแม่ส่งเสียงกระซิบเบาๆ ข้างหูว่า “ Good morning ” อาจจะชักชวนให้ลูกพูดตอบโต้กลับจะช่วยกระตุ้นให้ลูกตื่นนอนอย่างสดชื่นได้นะคะ

3. ปลุกใจด้วยเรื่องราวดีๆ ในช่วงวันหยุดพักผ่อน หากคุณพ่อคุณแม่มีแพลนพาลูกน้อยไปเที่ยวอยู่แล้ว อาจปลุกลูกน้อยด้วยการพูดกิจกรรมที่จะทำในวันนั้น เช่น การสัมผัสลูกเบาๆ ค่อยๆ ลูบไล้ลูกแล้วพูดชักชวนให้ลูกตื่น เพื่อเตรียมตัวเกินทางไปเที่ยว แต่อย่าลืมว่าต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน นุ่มนวล กระตุ้นการตื่นตัวของลูกเล็กน้อยด้วยประโยคปิดท้ายว่า “ใครอยากไปยกมือขึ้น” เท่านี้ก็จะทำให้ลูกตื่นแบบอารมณ์ดีได้ค่ะ

4. เตรียมอาหารเช้าสุดโปรด นอกจากจะทำให้ลูกน้อยอยากตื่นเพราะอาหารแสนอร่อยฝีมือคุณแม่แล้ว การทานอาหารเช้าเป็นสิ่งจำเป็นของเด็กๆ ข้อนี้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสภาพจิตใจดีอีกด้วยค่ะ

5. เสียงเพลงตื่นตัว เมื่อลูกน้อยได้ยินเพลงโปรดมีหรือจะไม่อยากลุกขึ้นเต้น การกระตุ้นด้วยเสียงเพลงที่ลูกชอบฟังจะทำให้ลูกอารมณ์ดีได้ในช่วงเวลาแรกของการตื่นนอนนะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ ชีวิต ดี๊ดี

ฉลาดด้วยการเล่น

คุณพ่อคุณแม่สังเกตไหมคะว่าของเล่นทุกวันนี้ มีเยอะเหลือเกิน บางอันดูพิสดาร บางอันก็ดูแพ๊งงแพงง…แต่การที่จะทำให้ลูกฉลาดได้ด้วยการเล่น อยู่ที่เราจะเลือกสรรสิ่งของต่างๆให้ลูกเล่น เพื่อกระตุ้น หรือเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อย แล้วแต่ละช่วงวัย เราจะสามารถให้ลูกเล่นอะไรได้บ้าง??

0-3 เดือน
จริงอยู่ที่เด็กในวัยนี้ วงจรชีวิตคือ กิน นอน ขับถ่าย แต่วัยนี้ถือเป็นช่วงวัยที่เขาพยายามเรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้วยการสัมผัส การฟังและดมกลิ่น ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยนี้คือ “คุณพ่อคุณแม่” นั่งเองค่ะ อาจจะลองอุ้มเขาโยกตัวเบาๆ หรือยกมือเท้าน้อยๆขึ้นลง พร้อมร้องเพลงไปด้วย หรือไกลเปลไป ร้องเพลงไป ลูกน้อยจะรู้สึกชอบใจ และส่งเสริมระบบประสาทสัมผัสต่างๆของลูกได้มาก แต่ถ้าอยากหาของเล่นมาให้ลูกเล่นบ้าง ก็สามารถทำได้

ลองให้หนูน้อยดูหน้าในกระจก แม้ว่าในวัยนี้เขาจะมองสิ่งต่างๆแบบพร่ามัวอยู่ แต่ก็รักที่จะสำรวจสิ่งรอบข้างด้วยการมองอยู่ดี หากสังเกตจะพบว่าลูกน้อยชอบจ้องดูใบหน้าเป็นพิเศษ หากระจกใบเล็กๆ ส่องลูกตัวเองบ้าง ส่องหน้าคุณพ่อคุณแม่ ทำหน้าตลก หยอกล้อลูก รับรองว่าลูกน้อยขำกิ๊กๆกั๊กๆเลยล่ะค่ะ

ของเล่นชิ้นเล็กๆที่มีหลายสี หรือสีเดียวแต่หลายเฉด จะช่วยเสริมพัฒนาด้านการมองเห็น จะช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยพยายามเตะเท้า ขยับมือแขนและขาเพื่อไขว้คว้าของเล่น

ตุ๊กตา หรือของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่ทำจากวัสดุที่ปลอดภัย จับบีบแล้วเกิดเสียงต่างๆ ก็ส่งเสริมการใช้ประสาทสัมผัสหลายด้านไปพร้อมๆกันค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Sasiwimon Wongyotrakoon

10 วิธีหลับสบาย

การนอนของลูกน้อย นอกจากจะขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแล้ว เราอาจจะยังสามารถช่วยให้ลูกน้อยหลับสบายได้ด้วย 10 วิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

1. การอาบน้ำลูกน้อยด้วยน้ำอุ่นจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว ใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อนุ่ม ไม่หนาหรือไม่บางจนเกินไป

2. นวดตัวลูกเบาๆ หรือนวดไปพร้อมกันการทาโลชั่นบริเวณแขนและขา จะช่วยสร้างความผ่อนคลายและทำให้ลูกน้อยหลับได้ง่ายขึ้น

3. เด็กแรกเกิด – 6 เดือน โดยธรรมชาติจะมีวงจรการนอนหลับ 10 รอบ/คืน โดยจะตื่นทุกๆ 1-2 ชั่วโมง และเมื่อตื่นมาไม่เจอใคร ก็อาจจะทำให้ลูกน้อยงอแง รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่การดูดนม เหมือนเป็นการปลอบ ทำให้สามารถหลับต่อได้อย่างมีความสุข แต่ไม่ควรทำบ่อยเกินไปนะคะ เพราะอาจจะทำให้เลิกดูดนมยากค่ะ

4. ไกวเปล การแว่งไปมาพร้อมกับร้องเพลง จะช่วยให้ลูกเคลิ้มหลับได้สบายๆ

5. หาสิ่งของที่ลูกติด เช่น ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม ให้ลูกถือ หรือลูบ จะทำให้ลูกเพลิดเพลิน

6. การสัมผัสเบาๆ เช่นการตบก้น ลูบหลัง จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจที่มีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ

7. เปิดเพลงบรรเลงเบาๆ ฟังสบายๆ นอกจากจะช่วยให้หลับง่ายแล้ว ยังเป็นการช่วยพัฒนาสมอง จัดระบบการเรียนรู้และความจำที่ดีอีกด้วย

8. อุณหภูมิห้องพอเหมาะ หากมีความร้อน หรือมีความชื้นมากเกินไป จะทำให้ลูกอึดอัด ไม่สบายตัว

9. ห้องนอนและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ควรมีความเงียบสงบ

10. แสงไฟสลัวๆ จะช่วยให้ลูกน้อยสบายตา และตื่นมาเห็นคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอุ่นใจขึ้นค่ะ

แล้วคุณพ่อคุณแม่มามี่โพโค มีวิธีอื่นๆที่ช่วยให้ลูกน้อยหลับสบายกันบ้างไหมคะ ?

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Bazy Bazz‎

สาเหตุที่ลูกนอนไม่หลับ

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงวัย 1-3 ปี มักจะมีปัญหาไม่ยอมหลับตอนกลางคืน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่น้อยเลยค่ะ เพราะการที่ลูกน้อยนอนหลับไม่เต็มอิ่มในตอนกลางคืน จะส่งผลเรื่องการเจริญเติบโต และพัฒนาการในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ เด็กที่นอนไม่พอจะความจำไม่ดี ขี้ลืม ขาดสมาธิ เหม่อลอย หงุดหงิดและแปรปรวนง่าย เคลื่อนไหวน้อย ดูไม่สดชื่น หรืออาจจะเป็นเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น แถมยังอาจจะส่งผลจ่อเรื่องความสูงด้วย เพราะการนอนดึกไปลดการหลั่นของ Growth hormone เรามาลองดูวิธีการแก้ไขกันค่ะ

1. ควรบอกลูกล่วงหน้าซักหน่อยว่าใกล้ถึงเวลานอนแล้ว ลูกจะได้เตรียมใจ ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ หรือถูกพรากไปจากกิจกรรมที่กำลังทำอยู่

2. จัดสรรเวลานอนกลางวันของลูกให้เหมาะสม เช่น เลื่อนเวลามานอนเร็วขึ้น และดูว่าเวลาในการนอนกลางวันของลูกมากเกินไปหรือเปล่า เพราะเด็กวัย 1-3 ปี ต้องการการนอนกลางวันแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่ตอนกลางคืนต้องการ 11-12 ชั่วโมง

3. จัดสิ่งแวดล้อมให้ดูสบายๆ เงียบ ไม่มีเสียงรบกวน หากลูกกลัวความมืด คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดให้ลูกมั่นใจว่าพ่อกับแม่จะอยู่ใกล้ๆลูก หรือนอนกับลูกไปสักระยะหนึ่ง จนลูกรู้สึกอบอุ่นใจ และหลับไป

4. ทำให้ลูกรู้ว่าคุณรักเขา เช่น อุ้มลูกเดินเล่นก่อนพาเข้านอน กอด หอม หรือเป็นคนพาเข้านอนด้วยตัวเอง ให้ลูกรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทิ้งให้อยู่แต่กับพี่เลี้ยง

ในช่วงแรกๆอาจจะยากซักหน่อย คุณพ่อคุณแม่ต้องยืดหยุ่น ไม่จู้จี้หรือบังคับลูกมากเกินไป เพราะไม่อย่างนั้นแล้วลูกจะรู้สึกว่าการเข้านอนเป็นเรื่องการบังคับค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Natnapa Lohasarn

บันทึกพัฒนาการเด็ก

การบันทึกพัฒนาการของลูกในแต่ละเดือนถือเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพื่อประเมินว่าลูกน้อยของเรา มีพัฒนาการเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่อย่างไร ควรช่วยเติมเต็มหรือฝึกเพิ่มด้านไหนบ้าง การบันทึกพัฒนาการเด็กเป็นการบันทึกความสามารถบางส่วนที่สำคัญตามวัยเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการช้าเร็วแตกต่างกัน ถ้าถึงอายุที่ควรทำได้ แล้วเด็กทำไม่ได้ ควรให้โอกาสฝึกก่อน 1เดือน และถ้าลูกมีลักษณะดังต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนะคะ

1. อายุ 3เดือน ลูกไม่สบตาหรือยิ้มตอบ ไม่ชูคอในท่านอนคว่ำ

2.อายุ 6 เดือน ไม่มองตาม ไม่หันตามเสียง ไม่สนใจคนที่เล่นด้วย ไม่พลิกคว่ำพลิกหงาย

3.อายุ 1 ปี ยังไม่เกาะเดิน ใช้นิ้วมือหยิบของกินใส่ปากไม่ได้ ไม่เลียนแบบท่าทางและเสียงพูด

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Prince Ja

กระตุ้นพัฒนาการสมอง

ชวนคุณพ่อคุณแม่มากระตุ้นสมองลูกน้อย ตั้งแต่ลูกน้อยยังเล็กๆกันค่ะ เพราะเซลล์สมองเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ ตั้งแต่ลูกน้อยมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ และในช่วงวัยขวบปีแรก ถือเป็นช่วงทองที่ควรจะกระตุ้นพัฒนาลูกน้อยค่ะ เรามาดูวิธีการกระตุ้นพัฒนาการสมองกันค่ะ

1. การเลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่น ทั้งการสบตา กอด นอกจากจะสร้างความผูกพันแล้ว ยังช่วยให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของสมองให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นค่ะ

2. หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆในช่วงกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ สระผม จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อของสมอง ส่งผลต่อทักษะการใช้ภาษา และสร้างความผูกพัน

3. อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ภาษา แถมยังช่วยให้ลูกหลับฝันดี นอนเต็มอิ่ม ทำให้สมองทำงานได้ดี ส่งผลให้ลูกฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว

4. สร้างสมาธิ เพื่อกระตุ้นคลื่นสมองส่วนการแก้ปัญหา วิธีง่ายๆค่ะ อุ้มลูกแนบอกขณะให้นม พูดคุย มองหน้า และสบตาให้ลูกได้ใช้เวลาจดจ่อ และรู้สึกสงบนิ่งซักระยะหนึ่ง

5. สิ่งแวดล้อมก็สำคัญค่ะ ควรจัดมุมหนึ่งให้มีของเล่นเสริมสมาธิ เช่น บล็อกไม้ จิ๊ซอว์ ไม่ควรหาของเล่นให้ลูกหลายชิ้น จะทำให้ลูกสับสน

6. การมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน จะทำให้ลูกสามารถคาดการณ์ได้ มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่มีสมาธิที่ดี เพราะลูกจะรู้สึกมั่นคงและสบายใจกับสิ่งที่สามารถควบคุมได้

7. ดนตรีคลาสสิกในช่วงขวบปีแรก จะมีผลเชิงบวกต่อระบบประสาท ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย สมองจึงเปิดรับสิ่งต่างๆได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Tonglak Boonsom

ลูกไม่หลับตอนกลางคืน

การที่ลูกน้อยนอนไม่หลับ อาจจะไม่ใช่เพราะลูกน้อยดื้อ หรือผิดปกติในเรื่องใดนะคะ แต่อาจจะมาจากหลายๆสาเหตุได้ค่ะ

1. เกิดจากสิ่งแวดล้อมเสียงดัง พลุกพล่าน ทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา

2. พ่อแม่ทำงานกลับบ้านดึก ส่งผลให้ลูกรอ หรือเมื่อคุณพ่อคุณแม่กลับมาเพื่อเล่นกับลูก ก็เลยเวลานอนของลูกไปแล้ว อาจจะส่งผลให้ลูกนอนดึกและเป็นเด็กหลับยาก

3. เมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะเริ่มมีการจำและติดพ่อแม่ กลัวการแยกจากพ่อแม่ ทำให้นอนยากขึ้น

4. เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เป็ดหวัด ท้องอืด ทำให้ไม่สบายตัว

หากหาสาเหตุได้แล้ว ก็ต้องรีบกำจัดสาเหตุเหล่านี้ออกไปโดยเร็วเลยค่ะ เพราะการนอนหลับที่เพียงพอ จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการและความจำที่ดี

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Bazy Bazz‎

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์