เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย 2
ดูแลลูกช่วงหน้าร้อน
อากาศร้อนๆ แบบนี้ ทำให้ลูกน้อยเหงื่อออกได้ง่าย ผิวหนังเกิดการเปียกชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอักเสบผื่นแดง ให้หมั่นเช็ดตัวลูกน้อยและโรยแป้งเพื่อลดความร้อน และทำให้เขารู้สึกสบายตัว หากลูกน้อยมีอาการคัน ให้หาคาลาไมน์ทาในส่วนที่มีผดผื่น อากาศแบบนี้ลูกน้อยอาจจะงอแงได้ง่าย เพราะเด็กรู้สึกไม่สบายตัวอยู่ตลอดเวลา การแก้ไขในเบื้องต้นคือให้ลูกน้อยจิบน้ำบ่อยๆและหมั่นเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิค่ะ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก sanook
ขอบคุณภาพประกอบจากคุณ Prakay Kay
นวดคลายร้อน
ช่วงเดือนเมษายน ลูกน้อยงอแงซะเหลือเกิน มาคลายร้อนให้ลูกน้อยด้วยการนวดกันดีกว่าค่ะ นอกจากจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และช่วยเรื่องระบบการหมุนเวียนของโลหิตแล้ว ขณะที่นวดอยู่นั้น แม่และลูกยังได้สบตากันอีกด้วย การบอกรัก พูดคุย สื่อสารในขณะนั้น ทำให้ลูกน้อยรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัย ส่งผลให้อารมณ์และจิตใจดีนั่นเองค่ะ
ช่วงแรกเกิด- 3 เดือน นวดแบบลูบไล้สัมผัส เพียงแผ่วเบาก็เพียงพอ
เมื่อกล้ามเนื้อลูกเริ่มแข็งแรง เพิ่มน้ำหนักมือในการนวดอีกเล็กน้อย
เลือกช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เช่น หลังจากอาบน้ำตอนเช้า ไม่นวดช่วงที่ลูกหิว หรือ อิ่มใหม่ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก motherandcare
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Sah Nokkasah
พื้นที่ส่วนตัวของลูกน้อย
พื้นที่ส่วนตัวของลูกน้อย คือการที่คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้เขาได้เป็นเจ้าของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และเปิดโอกาสให้ได้ทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เพียงแต่ในพื้นที่นี้จะต้องเป็นพื้นที่เปิด ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปเยี่ยมเยือนได้ทุกเมื่อค่ะ พื้นที่ส่วนตัวที่ดีของลูกน้อยในวัยนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องส่วนตัวอย่างเป็นสัดส่วน แต่คุณแม่สามารถเลือกมุมใดมุมหนึ่งของบ้านจัดพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกน้อย โดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้นะคะ
1. ความปลอดภัย
ควรเลือกมุมที่เป็นพื้นที่เปิด ไม่เป็นมุมอับ ไม่ใกล้ระเบียง บันได มอบหมายให้ลูกเป็นคนจัดการดูแลพื้นที่ด้วยตัวเอง ระหว่างที่ลูกใช้พื้นที่ส่วนตัวนี้ ก็ยังคงอยู่ในสายตาคุณแม่ และไม่ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย
2. ไม่สร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไป
ขึ้นชื่อว่าพื้นที่ส่วนตัวลูกน้อยของเราย่อมต้องการความเป็นส่วนตัวในการทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ คุณแม่จึงไม่ควรสร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจนเกินไปให้กับลูก แต่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นในสิ่งที่อยากเล่น และได้มีเวลาเป็นของตัวเองจริงๆ
3. สร้างพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้
เลือกหนังสือนิทาน หนังสือการ์ตูน หรือของเล่นที่ลูกน้อยชอบ นำมาจัดวางในพื้นที่ส่วนตัวให้ลูกน้อยได้ ซึ่งจะช่วยเป็นอุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพและตรงใจลูกมากขึ้นเพียงแต่ต้องปล่อยให้ลูกน้อยสร้างสรรค์กระบวนการเล่นด้วยตัวเอง
4. แม่พร้อมเสมอเมื่อหนูต้องการ
แม้ลูกน้อยจะมั่นใจในตัวเองแค่ไหน แต่เขาก็ไม่ได้อยากอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองตลอดเวลาค่ะ เพราะวัยนี้ก็ยังต้องการให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ข้างๆ คอยรับฟัง พูดคุยด้วยอยู่เสมอ เพียงแต่จะเกิดขึ้นในจังหวะเวลาลูกน้อยของเราจะเป็นคนเอ่ยปากและเข้าหาคุณแม่เองค่ะ
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Chanaporn Poninta
ดนตรีกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย1-3 ปี
ดนตรีเป็นเครื่องมือให้ลูกเรียนรู้ทางประสาทสัมผัสมาเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำมากขึ้น และพัฒนาการด้านร่างกายก็พร้อมเกือบเต็มที่ สามารถควบคุมแข้งขา กระโดดโลดเต้นได้อย่างใจ สามารถจับจังหวะของดนตรี อีกทั้งเสียงเพลงยังสร้างความสนุกและสุนทรียภาพในจิตใจ เสียงเพลงจึงเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นพัฒนาการอย่างครบถ้วน
หาของเล่นที่มีเสียง เช่น ของเล่นประเภทเคาะ หรือแบบเขย่าแล้วมีเสียง เช่น กลองใบเล็ก ลูกแซค เลือกที่ไซส์เล็กขนาดเหมาะมือลูก
วัยเริ่มหัดพูดควรสอดแทรกการร้องเพลงไปพร้อมๆ กับการหัดพูด ลูกจะสามารถจับจังหวะเพลง ฮัมเพลงตามจังหวะ ร้องเป็นคำคล้องจอง แถมท่าทีประกอบเพลงด้วยจะสนุกมากเลย
อัดเทปเสียงร้องของลูกให้ลูกฟัง เขาจะรู้สึกตื่นเต้นกับเสียงที่ได้ยิน กระตุ้นให้อยากส่งเสียงร้อง
ร้องเพลงที่มีเนื้อร้องประกอบกิจวัตรประจำวัน ทำให้เด็กสนุกมากขึ้น เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน
ช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งดนตรีกับการเคลื่อนไหวจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว รู้จักฟัง และแสดงออกในจังหวะที่เหมาะสม เด็กก็จะมีการพัฒนาประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหวให้มีความสัมพันธ์และแม่นยำมากขึ้นค่ะ
ชวนลูกออกมาเล่นนอกบ้าน
การปล่อยให้เด็กๆ ออกมาเล่นในที่โล่งกว้าง ซึ่งเป็นสถานที่กลางแจ้งนั้น ช่วยให้เด็กมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่แตกต่างจากห้องเรียนและที่บ้าน เด็กๆ จะได้เรียนรู้หลากหลากด้าน มีมิติมากขึ้น จากสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อย่างเช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ที่มีสีสัน แถมยังได้ความสุขสนุกสนานจากการเล่น ทำให้ลูกน้อยมีอารมณ์ดี นำไปสู่พัฒนาการทางอารมณ์หรือ EQ ที่ดีอีกด้วยค่ะ
นอกจากนี้การเล่นกลางแจ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นในที่โล่งกว้างจะทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระ ได้เคลื่อไหวได้เต็มที่ ไม่ว่าจะกระโดด วิ่ง ปีนป่าย ทำให้ลูกน้อยได้ออกกำลังกายทุกส่วน ส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงค่ะ และยังส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย โดยร่างกายจะได้รับวิตามินดีซึ่งช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมจากแสงแดดมากกว่าที่จะได้จากอาหารรวมทั้งอาหารเสริม ดังนั้น การให้เด็กๆ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว ควรให้เด็กๆ ได้เล่นกลางแจ้งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ได้สัมผัสแสงแดด วันละ 15 นาที โดยเลือกช่วงเวลาที่แดดไม่แรงมากนะคะ
ข้อควรระวังของการเล่นนอกบ้าน
แม้การเล่นนอกบ้านจะมีข้อดีแต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระวังโดยเฉพาะเรื่องการพลัดหลงกับลูกน้อยด้วยนะคะ และคุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามดังต่อไปนี้ด้วยค่ะ
- ไม่พาลูกเล็กไปยังที่มีคนพลุกพล่านเกินไปโดยไม่จำเป็น
- ไม่ปล่อยให้ลูกเล้กวิ่งไปมาตำลำพัง แม้จะใกล้บ้านก็ตามค่ะ
- ไม่ทิ้งลูกเล็กไว้กับผู้สูงอายุ ที่อาจดูแลเด็กวัยกำลังซนไม่ไหว
- ไม่ยอมให้ลูกรับของจากคนแปลกหน้า หมั่นสอนลูกน้อยในเรื่องนี้ด้วยค่ะ
- ไม่ให้ใครมารับลูกที่โรงเรียน เว้นแต่จะได้โทรศัพท์บอกคุณครูทุกครั้งที่มีคนมารับแทน
เมื่อลูกน้อยต้องนอนแปลกที่
หลายครอบครัวอาจจะเคยเจอพาลูกน้อยไปเที่ยวนอนค้างคืนต่างจังหวัด อย่างช่วงเทศกาลหรือมีเหตุให้ต้องค้างอ้างแรมที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านของตนเองนั้น เด็กจะรู้สึกแปลกที่ ทำให้ไม่ยอมนอน และร้องไห้ทวงจะกลับบ้าน อุ้มปลอบเท่าไหร่ก็ไม่หยุดร้องไห้ สาเหตุนี้มาจากลูกน้อยคุ้นเคยบนเตียงนอนเดิม ห้องนอนเดิม สภาพแวดล้อมเดิมๆ ตั้งแต่เกิด พอมานอนแปลกที่ก็เลยรู้สึกไม่ค่อยสบาย พอลืมตาขึ้นมาเจอสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ก็เลยร้องไห้ออกมาเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยปลอบลูกน้อยและอาจจะแก้ไขด้วยการนำที่นอน หรือสิ่งของที่ลูกติด หรือชอบให้มีเวลานอน เพราะเด็กบางคนติดตุ๊กตา ติดหมอน ติดผ้าห่ม ก็อาจจะนำสิ่งเหล่านี้ไปด้วยค่ะและสักพักลูกก็จะปรับตัวได้ในที่สุด
การนอนหลับสนิทตอนกลางคืน ทำให้ฮอร์โมนการเจริญเติบโตทำงานได้ดี ทำให้เจ้าลูกน้อยเติบโตเหมาะสมกับวัย หากอยากให้ลูกน้อยนอนเป็นเวลา คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกลูกให้นอนเป็นเวลาตั้งแต่ขวบแรก พร้อมทั้งเลือกใช้
เพื่อหนูน้อยจะได้หลับสนิทตลอดคืน ช่วยส่งเสริมให้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่สมวัยค่ะ
ลูกน้อยชอบหยิบของเข้าปาก
เด็กในวัยเล็ก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เป็นช่วงที่มีพัฒนาการเรียนรู้ทั้งด้านสมองและด้านร่างกาย ซึ่งหลายๆพัฒนาการก็มักจะมาพร้อมกับความวุ่นวาย ยิ่งเด็กเล็กๆชอบเอาของเข้าปาก หยิบจับอะไรได้เอาเข้าปากหมด พ่อแม่มักจะเป็นกังวลกลัวว่าของที่เอาเข้าปากจะมีเชื้อโรค เป็นอันตราย กลัวติดคอ หรืออาจจะกลืนลงไปทำให้ต้องร้อนรนพาไปหาหมอ
พฤติกรรมการหยิบจับของเข้าปากนั้นถือว่าเป็นพัฒนาการของเด็ก ซึ่งอาจใช้บรรเทาอาการคันเหงือกเพราะฟันที่กำลังพร้อมจะขึ้น หรือแม้แต่กำลังสนใจของชิ้นนั้นก็นำเข้าปากเหมือนกัน
การหยิบจับของแล้วนำเข้าปากเป็นการเรียนรู้รอบตัวด้วยเช่นกัน ว่าของสิ่งนั้นสีสัมผัสอย่างไรบ้าง แข็งหรืออ่อน และเป็นการฝึกประสาทสัมผัสประสานกันระหว่างตาและกล้ามเนื้อ หากคุณพ่อและคุณแม่รีบนำออกทันทีลูกก็อาจเสียโอกาสการเรียนรู้รอบตัวไปได้เช่นกัน แต่ก็ยกเว้นกรณีที่ของสิ่งนั้นเป็นของอันตราย ไม่ปลอดภัยให้รีบนำออกมา
ทางแก้คือให้แยกสิ่งที่ไม่ต้องการให้ลูกเอาเข้าปากไว้แต่แรก สามารถให้ลูกน้อยกัดของกินเล่น เช่น ขนมปัง หรือ ยางกัดแช่เย็น ซึ่งยางกัดนี้จะช่วยบรรเทาอาการคันเหงือกของลูกน้อยเมื่อฟันกำลังจะขึ้นด้วยค่ะ
การอาบน้ำให้ลูกน้อย
การอาบน้ำให้ลูก เป็นอีกหนึ่งภารกิจ ที่พ่อแม่มือใหม่แอบคิดหนัก การอาบน้ำให้ลูก ถึงแม้จะอาบให้หลายครั้งแล้วก็ตาม แต่บ้างก็กลัวลูกหล่น บ้างกลัวลูกลื่นหลุดมือ หรือ กลัวน้ำจะเข้าหูลูกบ้าง มาดูเคล็ดลับการอาบน้ำให้ลูกน้อยๆ มี 4 วิธีค่ะ
- การประคองคอลูก ใช้มือข้างที่ถนัดจับตรงต้นคอลูก และใช้ฝ่ามือช้อนประคองศีรษะลูกไว้ โดยที่ลูกหันลำตัวเข้าหาคุณ
- ป้องกันน้ำเข้าหูขณะสระผม เพียงใช้มือด้านที่ถนัดประคองต้นคอลูกและใช้นิ้วโป้งและนิ้วก้อยของมือด้านเดียวกัน กดพับหูลูกน้อยไว้ แล้วจับหัวลูกให้ต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย เพื่อให้น้ำไหลย้อนลงไปทางหัว ไม่ไหลลงทางลำตัว
- ล็อกตัวกันลื่น ใช้แขนข้างที่ถนัดของคุณสอดใต้ศีรษะลูก โดยผ่านตรงช่วงลำคอ ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือสอดผ่านใต้รักแร้ จับล็อกต้นแขนลูกไว้ ไม่ให้ลูกลื่นหลุดมือคุณเวลาอาบน้ำ
- พลิกตัวทำความสะอาดหลัง ใช้มือข้างที่ถนัดล็อกแขนหนึ่งของลูกไว้ โดยให้แขนรองรับลำตัวบริเวณหน้าอกของลูก จะช่วยให้ลูกอุ่นใจมากขึ้นค่ะ
มากระตุ้นสมองลูกให้ฉลาดอย่างถูกวิธี
คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจพัฒนาการของลูก ด้วยการพูด และอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ รวมทั้งเด็กก่อน 6 ขวบควรได้สัมผัสของจริงมากกว่าการดูจากโทรทัศน์ เพราะจะเป็นพื้นฐานต่อยอดให้เด็กเข้าใจความหมายที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น ที่สำคัญความอ่อนโยน ละเมียดละไมจากสัมผัส และน้ำเสียงของพ่อแม่จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองเด็ก ทำให้ลูกเติบโตอย่างสวยงาม และมีความฉลาดทางอารมณ์เพื่อกระตุ้นสมอง และพัฒนาการทางภาษาอย่างถูกวิธี ตามแนวทางดังต่อไปนี้
- รับฟังลูกอย่างอดทน และตั้งใจ แม้ในช่วงแรก ๆ จะยังไม่เข้าใจภาษา หรือคำพูดที่ลูกใช้ แต่เมื่อลูกรับรู้ว่ามีคนตั้งใจฟังเขา จะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากฝึกออกเสียง หรือเปล่งคำพูดใหม่ ๆ มากขึ้น และอย่าเบื่อที่จะตอบคำถามลูก เพราะการขยันตอบคำถามลูกวัยเด็กเล็กก็เพื่อกระตุ้นสมองให้เด็กเป็นคนกล้าคิด ทำให้เกิดวงจรเรียนรู้แบบถาวร
- ให้เวลาลูกตอบสนองหรือตอบคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กเล็ก ๆ ต้องการเวลาทำความเข้าใจ เพื่อเรียบเรียงความคิดก่อนที่จะสามารถสื่อสารกับคุณได้ ดังนั้นอย่าใจร้อน เร่งรัด หรือพูดแทน หรือพยายามเติมคำในช่องว่างเวลาที่ลูกพูดกับเรา ควรให้เขาได้พยายามคิด และพูดออกมาด้วยตัวเอง
- พูดคำง่าย ๆ สั้น ๆ และช้า ๆ เพราะในสมองลูกยังมีคำจำกัด อายุเขาต่างจากเรามาก ความเข้าใจในถ้อยคำต่าง ๆ จึงยังมีไม่มาก หากต้องอธิบายอะไรให้ลูกเข้าใจ ต้องปรับประโยคให้ง่าย สั้น ชัดเจน พูดทีละเรื่อง แล้วลูกจะเรียนรู้คำต่าง ๆ ได้รวดเร็ว
- ตอบสนอง และชื่นชมกับความพยายามของลูกที่จะสื่อสารกับเรา ไม่จำเป็นต้องคอยแก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด แต่สิ่งที่ควรทำคือ ทบทวนคำ หรือประโยคที่ลูกพูดให้ถูกต้อง เช่น ลูกพูดว่า "แม่ไปหลาด" แทนที่จะตำหนิว่า "ไม่ใช่ ๆ ลูกพูดผิด" ควรทวนโยคของลูกด้วยประโยคที่ถูกต้อง คือ "จ้ะ แม่ไปตลาด"
- เล่าให้นิทานให้ลูกฟัง ลองคิดเรื่องขึ้นเอง เด็กเล็กชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรือเกี่ยวกับเรื่องที่เขาคุ้นเคยในกิจวัตรประจำวัน อ่านหนังสือกับลูกทุกวัน พูดคุยกับเขา อธิบายรูปภาพ สี รูปทรง จำนวน และคำต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือ เชื่อมโยงภาพเข้ากับคำ ทั้งนี้ยังสามารถใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น ปั้นแป้งโด ใช้สีเทียนแท่งโต ๆ วาดภาพขณะที่อ่านหนังสือ และคุยกับลูกไปพร้อม ๆ กันก็ได้
ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาด ทำได้ไม่ยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องขยันตั้งใจจริง ที่สำคัญต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบเสมอค่ะ
สอนลูกน้อยรู้จักให้
ลูกวัย 1 - 3 ปี ชอบหวงของ และยังแยกแยะว่าสิ่งไหนเป็นของตน สิ่งไหนเป็นของคนอื่นได้ไม่ดี จึงอาจถูกมองว่าเป็นเด็กไม่รู้จักแบ่งปัน หรือเห็นแก่ตัวได้
เราสามารถปลูกฝังเจ้าหนูวัยซนของเราให้เป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปัน อันเป็นพื้นฐานให้เขาไม่เห็นแก่ตัวเมื่อโตขึ้น ด้วย 5 เรื่องเหล่านี้ได้ค่ะ
1. ฝึกให้ลูกเล่นเป็นกลุ่ม สิ่งสำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นร่วมกับคนอื่น เพราะจะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน อดทน รอคอย โดยการสลับกันเล่น ซึ่งต้องมีเด็กมากกว่า 1 คน สถานที่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น สนามหน้าบ้าน หรือเล่นภายในบ้านก็ได้
แต่การเล่นเป็นกลุ่มแบบนี้ เด็กๆ อาจมีการปะทะกับเพื่อนได้ คุณแม่จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ใช้กติกาในการเล่นว่า ใครมาก่อนได้เล่นก่อน หรือมีการจำกัดเวลาในการเล่น ซึ่งคุณแม่อาจตั้งเวลา มีเสียงกริ่งดัง เพื่อบอกให้เขารู้ว่าหากได้ยินเสียงกริ่งดังให้สลับกับเพื่อน เพื่อฝึกให้เขาเข้าใจการรอคอย และการรู้จักยอมแบ่งปันให้คนอื่นด้วย ไม่เหมือนกับการเล่นคนเดียวค่ะ
2. สะท้อนอารมณ์ลูกเมื่อเขาเจอปัญหา ลูกอาจมีโอกาสไม่ยินยอมพร้อมใจ เสียใจ หงุดหงิด หรือโดนเพื่อนแกล้งได้ หากได้เล่นกันเป็นกลุ่ม คุณแม่ก็ต้องพูดคุยกับเขา ด้วยการสะท้อนอารมณ์ลูก เช่น หนูเสียใจใช่ไหมคะที่เพื่อนต้องเอาของของเขากลับคืนไป การบอกหรือสอนเขาตรงๆ แล้วสะท้อนอารมณ์กลับไปอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าคุณแม่รับรู้ถึงปัญหาของเขา ซึ่งคุณแม่อาจจะเสนอแนวทางให้เขาคิดตามได้ เช่น หนูอยากไปเอาของคืนเลย หรือเอาของชิ้นอื่นไปแลกเปลี่ยนดี หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหมคะ
นอกจากนี้ คุณแม่สามารถสอดแทรกเรื่องการเคารพซึ่งกันและกันได้ด้วย เช่น หนูต้องยอมรับว่าของชิ้นนี้เป็นของเพื่อนนะ หากเราจะไปหยิบ ก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน ซึ่งก็เป็นการฝึกเขาไปในตัวว่าในอนาคตถ้าลูกจะไปหยิบของๆ ใคร ก็ต้องขออนุญาตก่อนเหมือนกัน
3. ให้ลูกรู้จักรับและให้อย่างเหมาะสม ลูกวัย 3 ขวบเริ่มฟังเรารู้เรื่องแล้ว คุณแม่อาจคุยกับเขาว่าของบางชิ้นที่ลูกรักเป็นพิเศษจะไม่แบ่งใครเลยได้ ในขณะที่ของบางชิ้นรักเหมือนกันแต่แบ่งเพื่อนเล่นได้ เพื่อให้เขาแยกแยะได้ว่าของบางอย่างไม่ได้แปลว่าต้องอนุญาตให้ใครยืมได้หมด
ที่สำคัญต้องให้กำลังใจและชมเชยลูกเสมอ เมื่อเขาเริ่มแบ่งปันเป็น เช่น ลูกอาจแบ่งขนมให้คุณแม่เพียงชิ้นเล็กๆ เราก็ชมเขาว่า หนูน่ารักนะคะที่แบ่งขนมให้คุณแม่ด้วย ค่อยๆ จากการที่เขาเริ่มแบ่ง ถึงจะดูแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่เพียงลูกเริ่มทำก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว
4. ไม่เน้นการลงโทษ ไม่ควรตีลูกหรือตำหนิ คุณแม่ควรชมเชยลูกเวลาที่เขารู้จักแบ่งของ แต่ถ้าเขาไม่ยอมแบ่งให้ใครเลย อาจใช้วิธีพูดในเชิงว่า คุณแม่ผิดหวังมากเลยที่หนูไม่แบ่งแบบนี้ เพื่อบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีผลต่อความรู้สึกของคุณแม่นะ วิธีนี้ไม่หนักหน่วงเท่าการพูดตำหนิ แต่ได้ผลมากกว่า
5. พาหนูทำกิจกรรมจิตอาสา คุณแม่ลองชวนลูกมาเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาค นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาที่เขาอาจเข้าใจมากขึ้นเมื่อโตกว่านี้ได้
คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมและปลูกฝังเรื่องหล่านี้ให้ลูกได้เป็นระยะ และมีความซับซ้อนมากขึ้นตามช่วงวัย เพื่อเป็นการสร้างรากฐานนิสัยที่ดีงามให้กับลูกค่ะ
update : 19.09.2560
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย