Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

"หากตั้งครรภ์" เป็นครั้งแรก

"หากตั้งครรภ์" เป็นครั้งแรก

แบบนี้กำลังตั้งครรภ์อยู่หรือเปล่านะ?

กรณีของการตั้งครรภ์ครั้งแรกแม้ว่าได้เตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตรแล้วก็ตาม
แต่อาจยังไม่รู้ว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกการตั้งครรภ์
การจับสัญญาณการตั้งครรภ์จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่หากมีอาการบ่งบอกบางอย่าง ปัจจุบันนี้สามารถตรวจเช็คได้ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์แล้ว ขอให้ลองใช้ทดสอบดู

สัญญาณของการตั้งครรภ์-1 ผู้ที่รู้รอบประจำเดือนของตนเอง

ปกติคนส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงสัญญาณการตั้งครรภ์จากประจำเดือนที่มาช้า

ผู้ที่รอบประจำเดือนมาตรงสม่ำเสมอและผู้ที่วัดอุณหภูมิพื้นฐานของร่างกาย (basal body temperature) จะสามารถจับสัญญาณการตั้งครรภ์ได้ง่าย

ประจำเดือนมาช้า (ไม่มา)

กรณีของผู้ที่รอบประจำเดือนมาตรงสม่ำเสมอ หากเลยกำหนดวันมีประจำเดือนไปประมาณ 1 สัปดาห์และประจำเดือนไม่มา ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์

แต่ร่างกายของผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนมาก

แม้ว่าปกติประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมหรือมีความเครียดหรือช็อคที่เกี่ยวกับทางด้านจิตใจ ประจำเดือนก็อาจจะมาช้าหรือไม่มาได้

ขอให้มองย้อนกลับไปดูว่ามีปัจจัยแบบนั้นหรือไม่ และลองดูสัญญาณอื่นในหน้าต่อไปประกอบด้วย

อุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายสูงติดต่อกัน

คิดว่าอาจจะมีบางคนที่วัดอุณหภูมิพื้นฐานของร่างกาย เนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติ แม้ว่าจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการตั้งครรภ์ก็ตาม

โดยปกติ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงเมื่อถึงกำหนดวันมีประจำเดือน แต่หากตั้งครรภ์ อุณหภูมิร่างกายจะสูงติดต่อกันโดยไม่ลดต่ำลง

กรณีของคนที่รู้ช่วงเวลที่อุณหภูมิสูง (ประมาณ 2 สัปดาห์หลังวันไข่ตก) และอุณหภูมิต่ำ (ประมาณ 2 สัปดาห์ตั้งแต่ถึงกำหนดวันมีประจำเดือนจนถึงวันที่ไข่ตก) ชัดเจนจากการวัดอุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายอย่างต่อเนื่อง หากมีอุณหภูมิสูง 3 สัปดาห์ติดต่อกันขึ้นไป ซึ่งปกติควรจะมีประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงมาก

ยกเว้นในช่วงเวลานี้หากมีไข้เนื่องจากเป็นหวัด ฯลฯ จะไม่เข้าข่ายข้างต้น

อุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายสูงติดต่อกัน

สัญญาณของการตั้งครรภ์-2 ผู้ที่ไม่รู้รอบประจำเดือนของตนเอง (เช่น ผู้ที่รอบประจำเดือนมาไม่ปกติ)

กรณีที่รอบประจำเดือนมาไม่แน่นอน

หากประจำเดือนไม่มาและพบอาการดังต่อไปนี้

ขอให้พิจารณาว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ และลองไปตรวจที่คลินิกสูตินารีเวชดู

หรือลองตรวจเช็คด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์

รู้สึกไม่สบายท้องและหน้าอก (อาการแพ้ท้อง)

หากเป็นผู้ที่มีอาการแพ้ท้องเร็ว จะมีอาการไม่สบายท้องและหน้าอกหรือที่เรียกกันว่า “อาการแพ้ท้อง” เมื่อประจำเดือนมาช้าเล็กน้อย โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียน รู้สึกว่าอาหารมีกลิ่นเหม็น ฯลฯ

หัวนมไวต่อความรู้สึก

หัวนมจะไวต่อความรู้สึก และเมื่อสัมผัสถูกชุดชั้นในหรือเสื้อผ้า อาจจจะทำให้รู้สึกเจ็บ

เข้าห้องน้ำบ่อย

เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นกว่าที่ผ่านมาจนไปกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำ (ปัสสาวะ) บ่อย แต่ด้วยสาเหตุเดียวกัน อาจจะทำให้มีอาการท้องผูก

ผิวหยาบ

เมื่อตั้งครรภ์ สมดุลของฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้ผิวหยาบและเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เห็นกระและฝ้าชัดขึ้น และหัวนมมีสีคล้ำ

มีไข้

อุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายสูงขึ้นต่อเนื่องยาวนาน อาจจะทำให้รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว “เหมือนจะเป็นหวัด?”

ตกขาวมากขึ้น

จากผลกระทบด้านฮอร์โมน ทำให้สารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งตกขาวในกรณีนี้ จะเป็นสีขาวขุ่นและเหนียว แต่ไม่มีกลิ่นรุนแรง

ร่างกายเมื่อยล้า และรู้สึกหงุดหงิด

จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จะทำให้ร่างกายเมื่อยล้าและรู้สึกว่าไม่มีแรง รู้สึกอารมณ์แปรปรวนและหงุดหงิด บางครั้งรู้สึกอยากร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

ขอให้ลองตรวจสอบด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์

จะต้องใช้ความกล้ามากสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์การไปพบสูตินรีแพทย์ และไปโดยไม่รู้แน่ว่าตัวเองตั้งครรภ์หรือไม่ แต่การไปพบสูตินรีแพทย์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำเมื่อตั้งครรภ์แล้ว และการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางก็เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

แต่ปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่สามารถตรวจสอบเองที่บ้านได้อย่างง่ายดาย

ดังนั้นก่อนอื่นขอให้ลองตรวจสอบด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ก่อน

กลไกของชุดทดสอบการตั้งครรภ์

เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน (human Chorionic Gonadotropin;hCG) จะถูกขับออกจากเซลล์รกที่เป็นต้นตอของรกเข้าไปในปัสสาวะเป็นจำนวนมาก ซึ่งชุดทดสอบการตั้งครรภ์ถูกสร้างขึ้นตามกลไกดังกล่าว

ประเภทของชุดทดสอบการตั้งครรภ์สามารถหาซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ได้ที่ร้านขายยา

ชุดทดสอบทุกประเภทจะมีสารทดสอบบรรจุอยู่ในรูปแบบแท่งหรือรูปแบบอื่น ๆ และจะตรวจโดยใช้จุ่มลงไปในปัสสาวะ หรือแช่ไว้ในภาชนะที่เก็บปัสสาวะไว้ สำหรับวิธีแสดงผล จะมีทั้งชุดทดสอบที่แสดงให้รู้ว่าผลเป็นโพซิทีฟหรือไม่ด้วยการเปลี่ยนสี และมีที่เป็นจอแสดงผลดิจิตอลอย่างชัดเจนว่า “+ (โพซิทีฟ)” หรือ “- (เนกาทีฟ)

นอกจากนี้ มีชุดตรวจหลายประเภทที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่หลังเลยกำหนดวันประจำเดือนมาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ก็มีชุดตรวจบางประเภทที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่วันที่ถึงกำหนดประจำเดือนมา

เมื่อทราบผลการทดสอบ...?

กรณีที่ผลเป็นโพซิทีฟ ชุดทดสอบในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมาก และสามารถตรวจได้ค่อนข้างแม่นยำ ในกรณีที่ผลออกมาเป็นโพซิทีฟ มีโอกาสว่าตั้งครรภ์อยู่สูงมาก ดังนั้นขอให้ไปพบสูตินรีแพทย์โดยเร็วที่สุด

*ชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะให้ผลเป็นบวกในกรณีที่ตั้งครรภ์นอกมดลูกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจสอบโดยเร็วว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีปัญหาหรือไม่

กรณีที่ผลเป็นเนกาทีฟ

อาจจะมีกรณีที่ใช้ชุดทดสอบอย่างไม่ถูกต้อง หรือกรณีที่ตรวจเร็วเกินไป ในกรณีที่ยังมีอาการของการตั้งครรภ์อยู่ ขอให้ลองทดสอบในวันอื่นอีกครั้ง หรือไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจ

*ก่อนใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ขอให้อ่านคู่มือในกล่องให้ดีก่อนใช้


การสังเกตการดิ้นของลูกในครรภ์

การสังเกตการดิ้นของลูกในครรภ์

คุณแม่หลายท่านที่เริ่มตั้งครรภ์นั้นอาจจะมีข้อสงสัยว่าตัวเองนั้นมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ เรามาดูสัญญาณเตือนภัยกันค่ะ

ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือนนั้นมักจะมีอาการแปลกๆ หนึ่งในอาการที่บ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด คือการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์

1. ใน 1 ชั่วโมงหรือหลังทานอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้สึกว่าลูกดิ้นเกิน 10 ครั้งต่อวัน

2. อาการดิ้นของลูกบ่งบอกถึงความแข็งแรงของลูก บ่งบอกว่าลูกยังมีชีวิตอยู่

3. เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น ลูกจะดิ้นน้อยลง เนื่องจากตัวลูกใหญ่คับครรภ์ เลยทำให้พื้นที่ที่จะดิ้น ลดน้อยลงไปด้วย

4. ลูกจะดิ้นน้อยลงตั้งแต่อายุครรภ์คุณแม่ได้ประมาณ 32 สัปดาห์

5. วิธีนับการดิ้นของลูก คุณแม่สามารถนับได้จากหลังทานอาหารประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมงลูกต้องดิ้นประมาณ 3 ครั้ง ถ้าลูกมีอาการดิ้นน้อยกว่านี้ หรือไม่มีอาการดิ้นหลายชั่วโมง ควรรีบไปหาหมอให้ตรวจเช็คทันที เพราะอาจคลอดก่อนกำหนดได้

คุณแม่คนไหนที่ลูกน้อยดิ้นบ่อยๆก็สบายใจได้เลยค่ะ เพราะลูกน้อยยิ่งดิ้นบ่อยแสดงว่าเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยของคุณนั้นยิ่งแข็งแรงมากค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ maerakluke.com

การดูแลลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนด

การดูแลลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนด

ลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนดนั้นจะได้รับการดูแลจากคุณหมอเป็นพิเศษและเมื่อลูกน้อยแข็งแรงพร้อมกลับบ้านแล้ว คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของคุณแม่ คนสำคัญที่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดแล้วล่ะค่ะ

สิ่งสำคัญที่แนะนำให้คุณแม่ทำคือ

1. ดูแล เอาใจใส่ ระวังเรื่องการติดเชื้อ : เพราะลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนดนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันยังไม่เต็มที่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของแม่จะส่งต่อถึงลูกในช่วงท้าย ๆ การตั้งครรภ์ เด็กคลอดก่อนกำหนดจึงมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าเด็กปกติถึง 4 เท่า เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น และที่สำคัญคุณแม่รวมถึงคนใกล้ชิดลูกควรหมั่นล้างมือ ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้คนที่ไม่สบาย รักษาความสะอาดของใช้ทุกอย่างของลูกมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเด็กไม่ค่อยแข็งแรงจำเป็นต้องระวังเรื่องหวัดให้มาก

2. รักษาอุณหภูมิร่างกายให้ลูก : คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องอุณหภูมิของลูกน้อยเป็นอย่างมาก เมื่ออาบน้ำให้ลูกน้อยแล้วควรจะรีบเช็ดตัวให้แห้ง ห่มผ้า ไม่ให้ลูกถูกลม เพราะลูกน้อยคลอดก่อนกำหนดตัวเล็กน้ำหนักน้อย เสียความร้อนในร่างกายได้ง่าย อาจจะสังเกตว่าลูกตัวร้อน ตัวเย็น และช่วยดูแลเรื่องเสื้อผ้าให้อบอุ่น สบายตัว

3. ใจแม่สบาย กายลูกเติบโต : สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่คุณแม่ห้ามลืมก็คือ เลี้ยงเจ้าตัวเล็กอย่างปกติไม่ต้องกังวล เพียงแค่ระวังเรื่องต่างๆที่กล่าวไปข้างต้น หากคุณแม่มีอาการวิตกกังวลอาจจะทำให้ส่งผลถึงพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกน้อยได้นะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ th.theasianparent

อาการปัสสาวะเล็ดของแม่ตั้งครรภ์

อาการปัสสาวะเล็ดของแม่ตั้งครรภ์

เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านอาจจะมีอาการแปลกๆที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ใช่ไหมคะ หนึ่งในนั้นคืออาการปัสสาวะเล็ด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับแม่ๆทุกท่าน

จริงๆแล้วอาการปัสสาวะเล็ดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ปกติเราจะควบคุมการไหลปัสสาวะของเราได้ แต่ในบางกรณี เมื่ออยู่เหนือการควบคุมก็ทำให้ปัสสาวะเล็ดลอดออกมา เนื่องจากในช่องท้องมีแรงดันเพิ่มขึ้น เช่น ไอ จาม หัวเราะ หรือเวลาที่เรายกของหนัก ๆ (บางคนเกิดอาการกลัวมาก ๆ ก็ปัสสาวะเล็ดได้เหมือนกัน)

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ระบบทางเดินปัสสาวะมีการขยายตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรง ประกอบกับหนูน้อยในท้องตัวโตขึ้น มดลูกเลยขยายตัวจนกดทับกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย

วิธีแก้

1. เมื่อมีอาการปวดปัสสาวะให้รีบเข้าห้องน้ำโดยด่วน อย่ากลั้นไว้

2. การดื่มน้ำให้น้อยลงนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกวิธี อาจจะส่งผลให้ปัญหาอื่นๆตามมา

3. หลังคลอดอาการปัสสาวะเล็ดก็จะค่อย ๆ หายไปเอง ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าคุณแม่ยังมีอาการต่อเนื่อง ก็ควรปรึกษาคุณหมอ

โดยสรุปคือ ปัญหาปัสสาวะเล็ดถือไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การพกกางเกงชั้นใน และกางเกงติดตัวไว้สัก 1 ชุด ก็อาจจะเป็นการป้องกันที่ดีเลยนะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ pnmag

การคลอดก่อนกำหนดนั้นส่งผลต่อสุขภาพของลูกหรือไม่ ?

การคลอดก่อนกำหนดนั้นส่งผลต่อสุขภาพของลูกหรือไม่ ?

ทารกคลอดก่อนกำหนด มีภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพในหลายด้าน เพราะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่ก็ต้องออกมาอยู่ในโลกภายนอกก่อนกำหนด ทำให้สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง และอวัยวะที่สำคัญก็อาจจะมีปัญหาได้ ปัญหาที่พบได้บ่อยคือภาวะเลือดออกในสมอง โดยถ้าเด็กมีปัญหาในการหายใจ ทั้งการหยุดหายใจ หรือหัวใจไม่เต้น เด็กกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองสูง นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาวะขาดออกซิเจน โดยอาจจะมีปัญหาจากหัวใจ ปอด เพราะการขาดออกซิเจนจะทำให้เนื้อสมองตาย เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นมีโอกาสเสี่ยงเรื่องปัญหาสมองพิการได้ และยังมีส่วนต่างๆของร่างกายที่สามารถพบปัญหาได้ อาทิเช่น ตา, หัวใจ , ปอด , ลำไส้ ,และการหยุดหายใจ

ปัญหาสุขภาพของเด็กคลอดก่อนกำหนด แม้จะเกิดขึ้นในอวัยวะที่สำคัญ แต่ทุกโรคสามารถรักษาได้ รวมไปถึงการดูแลเอาใจใส่ที่ใกล้ชิดนะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ khanpak.com

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์

เคล็ดลับคุณแม่ที่เกี่ยวข้อง