Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลัง
คลอดที่เป็นกังวลกัน

คุณแม่เป็นจำนวนมากมีประสบการณ์กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ในระหว่างที่ตั้งครรภ์และหลังคลอด
ซึ่งมักจะเกิดขึ้น เช่นตอนจังหวะที่จาม
อาจจะรู้สึกใจหายกันก็ได้ แต่นี่เป็นเรื่องปกติ
ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป

เหตุใดจึงเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ง่าย?

ถึงแม้จะรู้ว่าในระหว่างตั้งครรภ์เกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ง่าย

แต่คิดว่าคงมีคุณแม่เป็นจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าหลังคลอดก็เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ง่ายเช่นกันใช่ไหม?

ซึ่งหากไม่รู้ ก็อาจจะคิดและเป็นกังวลว่าอาการดังกล่าวเกิดกับตัวเองเพียงคนเดียว

แต่อาการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติไม่จำเป็นต้องกังวลใจไป

อีกทั้งหากรู้สาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็ยิ่งจะรู้สึกอุ่นใจอย่างแน่นอน

มาดูกันเลยดีกว่าว่าสาเหตุดังกล่าวคืออะไร

การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดเป็นเรื่องปกติ

ระหว่างตั้งครรภ์มดลูกที่ใหญ่ขึ้นจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ง่าย หลังคลอดก็เช่นกัน การกดทับกระเพาะปัสสาวะของมดลูกที่ยังมีขนาดใหญ่อยู่และภาระที่เกิดขึ้นในตอนคลอดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ง่ายเช่นกัน

พอได้ยินคำว่า “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่” อาจจะไม่อยากเชื่อก็ได้ว่า “เกิดขึ้นกับตัวเองจริงหรือ?” แต่อาการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอด ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกผิดปกติแต่อย่างใด หลังคลอด 3 - 4 เดือน เมื่อกระเพาะปัสสาวะและมดลูกกลับคืนไปอยู่ในตำแหน่งเดิมแล้วส่วนใหญ่ก็จะหายจากอาการดังกล่าว ขอให้วางใจได้

สาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังคลอดลูกคือ?

สาเหตุใหญ่ของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังคลอดคือภาระที่เกิดกับอุ้งเชิงกรานในตอนคลอด อุ้งเชิงกรานคือฐานล่างของกระดูกเชิงกรานที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเส้นใย ซึ่งเป็นส่วนที่รองรับมดลูกและกระเพาะปัสสาวะเอาไว้ หากอุ้งเชิงกรานหย่อนยาน จะทำให้ทางเดินปัสสาวะไม่กระชับ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้

อีกทั้งหากเนื้อเยื่อเส้นใยเกิดบาดแผลจากการคลอด จะทำให้เกิดการอาการเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะได้ง่ายด้วย นอกจากอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แล้วยังอาจจะเกิดปัญหาอื่น เช่น ไม่รู้สึกปวดปัสสาวะหรือปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น ตามมาด้วยก็ได้

แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่ออุ้งเชิงกรานฟื้นตัวอาการดังกล่าวก็จะหายไป ช่วงที่เป็นกังวลกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หากจัดการแก้ไขอย่างเหมาะสม เช่น ใช้แผ่นซึมซับ เป็นต้น ก็จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสบายตามปกติ

เพื่อลดภาระที่จะเกิดกับอุ้งเชิงกรานควรทำอย่างไร?

สิ่งสำคัญในการป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังคลอดก็คือ การไม่ก่อให้เกิดภาระกับอุ้งเชิงกรานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งใช้เวลาในการคลอดสั้นเท่าไรก็จะยิ่งเกิดภาระน้อยเท่านั้น จึงควรจะหลีกเลี่ยงภาวะอ้วนเกินไปหรือโรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ที่เป็นสาเหตุทำให้คลอดลูกได้ยาก

อีกทั้ง การเบ่งให้ได้จังหวะดีในตอนคลอดก็เป็นการลดภาระที่จะเกิดกับอุ้งเชิงกราน จังหวะในการเบ่งนั้นพยาบาลและแพทย์ผู้ทำคลอดจะเป็นคนคอยบอก ขอให้ทำตามนั้น

การดูแลตัวเองหลังคลอด

ถึงจะรู้ว่าหายได้เองตามธรรมชาติก็ตาม

แต่ก็อยากจะบอกลาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ไปเร็วๆ ใช่ไหม

การฟื้นตัวของอุ้งเชิงกรานเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้อาการดังกล่าวหายไป

การดำเนินชีวิตหลังคลอดอย่างไรนั้น จะทำให้การฟื้นตัวของอุ้งเชิงกรานแตกต่างกันออกไปด้วย

มาดูกันอย่างเป็นรูปธรรมกันเถอะว่าควรจะทำอย่างไรดี

หลังคลอดควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรดี?

อุ้งเชิงกรานที่ได้รับความเสียหายจากการคลอด หากเป็นไปด้วยดีตามลำดับส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวในเวลา 1 – 2 เดือนหลังคลอด ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นก็ควรจะนอนพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ยกของหนัก กว่าจะฟื้นตัวจนสามารถยกของหนักได้นั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ หากฝืนทำเกินกำลังในช่วงนี้จะทำให้เกิดผลกระทบในภายหลังได้ขอให้ระวังให้ดี

อย่าใส่สายรัดทันทีหลังคลอด

เมื่อก่อน กล่าวกันว่าสามารถใส่สายรัดกระชับหน้าท้องได้ทันทีหลังคลอด แต่ความจริงแล้วการใส่สายรัดจะทำให้มดลูกและกระเพาะปัสสาวะเคลื่อนตัวลงต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดภาระต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของอุ้งเชิงกราน หากทำให้อุ้งเชิงกรานฟื้นตัวช้าก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นานเรื้อรังออกไปได้ ไม่ควรจะใส่สายรัดที่รัดแน่นภายหลังคลอด 4 สัปดาห์ขึ้นไป ปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนก่อน และด้วยเหตุผลเดียวกันควรจะงดการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องในระยะนี้ด้วย

การบริหารอุ้งเชิงกราน

โดยมากแล้วอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะถูกแก้ไขด้วยการสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ควรจะเริ่มทำตั้งแต่อาการเจ็บที่บริเวณฝีเย็บหายไป การบริหารอุ้งเชิงกรานควรจะทำ 2 ครั้งใน 1 วัน ครั้งละประมาณ 10 นาที ที่สำคัญคือทำทุกวันไม่ให้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลต่อไปนี้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่อุ้งเชิงกรานจะแบกภาระหนัก จึงควรบริหารอุ้งเชิงกรานเป็นอย่างยิ่ง

เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่บ่อยๆ ในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด

ระหว่างการคลอดใช้เวลาตั้งแต่ปากมดลูกเปิดจนกระทั่งเด็กคลอดออกมาเป็นเวลานาน (มากกว่า 5 ชั่วโมง)

คลอดทารกที่มีขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่า 3500 กรัมขึ้นไป

หลังคลอดแม้จะผ่านไป 1 สัปดาห์แล้วมดลูกก็ยังต่ำอยู่

ต่อไป มาดูกันดีกว่าว่าในทางปฏิบัติแล้วควรจะทำอย่างไร

ท่าพื้นฐาน

ก่อนอื่น เริ่มจากท่านอนหงายที่เกร็งหน้าท้องได้ยาก

1. นอนหงาย กางขาออกประมาณไหล่ งอเข่าเล็กน้อยชันขาขึ้น ทำตัวผ่อนคลาย

2. อยู่ในท่านั้น แล้วขมิบอุ้งเชิงกรานประมาณ 12 - 14 วินาทีในช่วงเวลา 1 นาที (สำหรับผู้ที่รู้สึกว่ายากเกินไป ในตอนแรกจะเริ่มจากการขมิบประมาณ 5 วินาทีก็ได้)ขมิบทวารหนัก ทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดทั้งหมด จนทำให้ค่อยๆ เกิดความรู้สึกขึ้นในส่วนอวัยวะเพศทั้งหมด ระวังอย่าเกร็งหน้าท้อง ขา และสะโพก

3. เวลา 46 - 48 วินาทีที่เหลือในช่วงเวลา 1 นาทีนั้น ให้คลายแรงออกจากร่างกายให้หมด

4. ทำท่าบริหารดังกล่าวซ้ำไปมา 10 ครั้ง เป็นเวลา 10 นาที

ท่าประยุกต์

จะขอแนะนำวิธีการบริหารที่สามารถทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ขอให้ลองนำไปปฏิบัติ

1. นั่งเก้าอี้เข้าไปลึกๆ เอนหลังลงบนพนักเก้าอี้ ไม่เกร็งไหล่

2. เช่นเดียวกับขั้นพื้นฐาน ให้ขมิบอุ้งเชิงกรานประมาณ 12 - 14 นาที ในช่วงเวลา 1 นาที

3. เวลาที่เหลือใน 1 นาที ให้คลายแรงออกจากร่างกายให้หมดเช่นเดียวกับท่าพื้นฐาน

ขมิบและคลายแรงออกซ้ำไปมา 10 ครั้ง

*เนื่องจากท่านั่งเป็นท่าที่ทำให้เกิดการเกร็งสะโพกและหน้าท้องได้ง่าย ให้ทำการตรวจสอบโดยวางมือข้างหนึ่งเอาไว้บนหน้าท้องไปด้วย จุดสำคัญก็คือระวังไม่ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง

การทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้การบริหารร่างกายเกิดผลอย่างสูงสุด

เพื่อบอกลาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พยายามทำไปที่ละเล็กละน้อยทุกวัน!

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์