Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

เสริมสร้างพัฒนาการเด็ก

เสริมสร้างพัฒนาการเด็ก

สำหรับเด็กน้อย ไม่มีอะไรจะดีไปกว่า "การเล่น" เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยฝึกพัฒนาการต่าง ๆ ตามวัยของลูกน้อย อีกทั้งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงฝึกในเรื่องของประสาทสัมผัส และอารมณ์ เพื่อให้เด็กน้อยเติบโตสมวัย ฉลาด แข็งแรง

เสริมสมาธิให้ลูกน้อย

เสริมสมาธิให้ลูกน้อย

สำหรับบ้านไหนที่มีปัญหาลูกน้อยสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกน้อยได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้นะคะ

1. ก่อนอื่นเลย พ่อแม่ต้องใจเย็น ไม่ดุ ไม่โกรธ แต่เลือกสนใจพฤติกรรมที่ดีของลูกแทน ให้คำชม กอด ทำให้ลูกรู้สึกดีต่อตัวเอง

2. จัดเวลาทำกิจวัตรให้ลูกตรงกันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้ลูกสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ดีขึ้นนะคะ

3. จัดกิจกรรมที่ช่วยปรับยืดสมาธิของลูก เช่น ปั้นดินน้ำมัน ระบายสี ต่อตัวต่อ เป็นต้น

4. ให้ลูกทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ เพิ่มสมาธิ ลูกน้อยจะจดจ่อกับสิ่งที่เรามอบหมายให้ และอย่าลืมให้รางวัลเป็นคำชมและกำลังใจแก่ลูกน้อยด้วยนะคะ

5. เพิ่มสมาธิด้วยดนตรี เช่น สอนให้ปรบมือเข้าจังหวะ กระโดดเต้นตามเพลง หรือให้โจทย์ลูกในการฟังเพลง เช่นลองดูสิ ว่าตรงท่อนนี้ ในเพลงตบมือทั้งหมดกี่ครั้ง

6. ให้สบตาลูกเวลาพูดคุย ทำให้ลูกรู้จักสบตากับผู้อื่น และเกิดสมาธิกับผู้ที่สนทนาด้วยมากขึ้น

7. ให้ลูกมีอิสระในการสำรวจ แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ในขอบเขตที่เหมาะสม ให้เขาเรียนรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ หรือไม่ได้ บอกหรือห้ามให้ชัดเจน

8. ไม่ใส่ใจหากลูกซนมาก หรือเดินหนีไปก่อน ถ้ารู้สึกโมโห และควบคุมตนเองไม่ได้

9. หากิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ชวนต่อบล็อกไม้ อ่านนิทานให้ลูกฟัง เป็นต้น

10. แยกลูกออก ถ้าลูกทะเลาะหรือทำร้ายคนอื่น ให้เขานั่งเงียบๆคนเดียวจนกว่าจะสงบลง แล้วค่อยพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และผลของพฤติกรรมนั้นๆ

11. ใช้ความอดทนกับลูก ให้ความรักอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ค่อยๆปรับแก้ไข รับรองว่าลูกจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ motherandcare

ขอบคุณรุปภาพจากคุณ Nana Jittung

การเล่านิทานส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย

การเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังมีประโยชน์มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ลูกเล็กวัยขวบปีแรก เพราะนอกจากจะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแล้ว ขณะที่พ่อแม่เล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการหลายๆ ด้านของลูกด้วย

  1. การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกวัยขวบปีแรกฟัง จะช่วยการกระตุ้นพัฒนาการถึง 3 ด้านของลูก
    พัฒนาการด้านภาษา - ลูกจะได้ฝึกการได้ยิน ได้รู้จักภาษาและเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จากหนังสือ
    พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก - เด็กๆ จะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการใช้นิ้วมือ หยิบ จับ สัมผัส และขีดเขียน เป็นการทำงานประสานกันระหว่างสายตาและมือ (Eye-Hand coordination) ซึ่งกระตุ้นการทำงานของสมองโดยตรง เป็นการช่วยพัฒนาสติปัญญาให้กับเด็ก
    พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม - ขณะอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง การได้โอบกอดลูก ได้นั่งตัก การใกล้ชิด สัมผัสและเกิดการปฏิสัมพันธ์กัน จะทำให้พ่อแม่ลูกเกิดความผูกพันและไว้ใจกันและกัน ลูกก็จะมีอารมณ์ที่มั่นคง และยิ่งถ้าเล่านิทานอย่างสนุกสนาน เด็กๆ ก็จะยิ่งมีความสุข อารมณ์ดี การเรียนรู้และการจดจำก็จะพัฒนาดีตามไปด้วย

เริ่มอ่านหนังสือเมื่อไรดี
ตั้งแต่ลูกลืมตาดูโลก ก็เล่านิทานให้ฟังได้เลย เพราะการได้ยินเริ่มพัฒนาแล้ว แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจความหมาย แต่เป็นการทำกิจกรรมที่จะสร้างความคุ้นเคยให้ เช่น คุ้นเคยกับเสียงของแม่ หรือที่แม่อ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งถ้าไม่เคยปูพื้นฐานเรื่องการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกเลย มาเริ่มทำตอนอายุ 1 ขวบ อาจจะต้องใช้การโน้มน้าวอยู่นาน หรืออาจล้มเหลว เพราะลูกไม่ชินกับกิจกรรมนี้

แต่ถ้าจะเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกในวัยที่เข้าใจภาษาฟังบ้างแล้ว ต้องเป็นตอนอายุ 6 เดือน เป็นช่วงที่ร่างกายพร้อมที่จะพัฒนา เริ่มนั่งเองได้ รู้จักชื่อตัวเอง ถึงจะยังพูดไม่ได้เป็นคำที่มีความหมาย แต่เริ่มส่งเสียงโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าพูดให้ลูกฟังก็เป็นการเพิ่มข้อมูลคำศัพท์ และลูกก็จะเริ่มฟังและสนใจจะฝึกพูดแล้ว

อ่านหนังสืออย่างไร ลูกได้ประโยชน์มากสุด
ควรเปล่งเสียงพูดให้ชัดถ้อย ชัดคำ เมื่อลูกอายุ 5 เดือนขึ้นไป ควรใช้ภาษาให้ถูกต้อง ลูกจะได้ฝึกฟังและฝึกพูด หากลูกพูดผิดก็ควรแก้ไขให้ถูกต้อง น้ำเสียงเร้าใจ อ่านในจังหวะที่สนุกสนาน ใช้เรียกความสนใจลูก อาจทำเสียงประกอบเรื่องเพื่อเพิ่มความสนุก เช่น เสียงสัตว์ เสียงสมพัด ฯลฯ ทำท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง เพิ่มความสนุก และยังช่วยให้ลูกได้ขยับร่างกายตามไปด้วย
มีอุปกรณ์เสริม ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ เช่น ตุ๊กตาหุ่นนิ้ว ตุ๊กตาผ้า หรือสิ่งของต่างๆ ที่ตรงกับเนื้อเรื่อง และช่วยให้ลูกได้สัมผัสพื้นผิววัสดุที่หลากหลายด้วย เล่าประกอบดนตรี อาจเปิดเพลงในจังหวะช้าๆ คลอเบาๆ ไปด้วย ช่วยให้ลูกมีอารมณ์ดี
ได้ใกล้ชิด ผูกพัน การได้สบตา พูดคุย โอบกอดลูกตอนเล่านิทาน จะเป็นสื่อกลางของความรัก มีปฏิสัมพันธ์กันเกิดขึ้น เมื่ออารมณ์มั่นคง การเรียนรู้ก็จะพัฒนาดีตามไปด้วย
เล่านิทาน 10 นาที เวลาคุณภาพ ช่วงก่อนนอนหรือหลังกินนม ก็พอแล้ว ไม่ควรยัดเยียดการเล่านิทานให้ลูกฟังมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกต่อต้าน จนนิทานกลายเป็นเรื่องที่ไม่สนุกไปเลย

ชวนลูกออกมาเล่นนอกบ้าน

การปล่อยให้เด็กๆ ออกมาเล่นในที่โล่งกว้าง ซึ่งเป็นสถานที่กลางแจ้งนั้น ช่วยให้เด็กมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่แตกต่างจากห้องเรียนและที่บ้าน เด็กๆ จะได้เรียนรู้หลากหลากด้าน มีมิติมากขึ้น จากสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อย่างเช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ที่มีสีสัน แถมยังได้ความสุขสนุกสนานจากการเล่น ทำให้ลูกน้อยมีอารมณ์ดี นำไปสู่พัฒนาการทางอารมณ์หรือ EQ ที่ดีอีกด้วยค่ะ

  1. นอกจากนี้การเล่นกลางแจ้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นในที่โล่งกว้างจะทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระ ได้เคลื่อไหวได้เต็มที่ ไม่ว่าจะกระโดด วิ่ง ปีนป่าย ทำให้ลูกน้อยได้ออกกำลังกายทุกส่วน ส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงค่ะ และยังส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของร่างกาย โดยร่างกายจะได้รับวิตามินดีซึ่งช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมจากแสงแดดมากกว่าที่จะได้จากอาหารรวมทั้งอาหารเสริม ดังนั้น การให้เด็กๆ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่แล้ว ควรให้เด็กๆ ได้เล่นกลางแจ้งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ได้สัมผัสแสงแดด วันละ 15 นาที โดยเลือกช่วงเวลาที่แดดไม่แรงมากนะคะ

ข้อควรระวังของการเล่นนอกบ้าน

 

แม้การเล่นนอกบ้านจะมีข้อดีแต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระวังโดยเฉพาะเรื่องการพลัดหลงกับลูกน้อยด้วยนะคะ และคุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามดังต่อไปนี้ด้วยค่ะ

 

  1. ไม่พาลูกเล็กไปยังที่มีคนพลุกพล่านเกินไปโดยไม่จำเป็น
  2. ไม่ปล่อยให้ลูกเล้กวิ่งไปมาตำลำพัง แม้จะใกล้บ้านก็ตามค่ะ
  3. ไม่ทิ้งลูกเล็กไว้กับผู้สูงอายุ ที่อาจดูแลเด็กวัยกำลังซนไม่ไหว
  4. ไม่ยอมให้ลูกรับของจากคนแปลกหน้า หมั่นสอนลูกน้อยในเรื่องนี้ด้วยค่ะ
  5. ไม่ให้ใครมารับลูกที่โรงเรียน เว้นแต่จะได้โทรศัพท์บอกคุณครูทุกครั้งที่มีคนมารับแทน

รู้ทันพัฒนาการเด็ก เสริมสร้างเจ้าตัวเล็กให้แข็งแรง

  1. สำหรับเด็กวัย 1-3 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะไม่เหงา พูดคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะเจ้าตัวเล็กจะเริ่มส่งเสียงพูดเป็นคำยาวๆ หรือบางทีเป็นประโยคเลยก็มี เพื่อช่วยให้ลูกได้ฝึกพูดได้คล่องก่อนเข้าโรงเรียนอนุบาล คุณแม่เองก็อย่าลืมฝึกคุย กับลูกอยู่บ่อยๆ นะคะ บางครั้งอาจพูดบางอย่าง เพื่อให้ลูกตั้งคำถามกลับมา หรือถามคำถามเขาให้เขาได้คิด และตอบ ไม่ว่าจะเป็นคำถามหรือคำตอบว่าอะไร รับรองว่าเรียกรอยยิ้มจากคุณแม่และทุกคนในบ้านได้แน่ๆ และการพูดคุยกันบ่อยๆ ก็ยังช่วยฝึกพัฒนาการพูด ทักษะการคิด ช่วยให้เขากล้าเสนอความคิดเห็นและกล้าแสดงออกได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ต้องการการใช้พลังงานและการเสริมสร้างพัฒนาการทาง ร่างกายที่เหมาะสม การเลือกกีฬาง่ายๆ ก็จะช่วยให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อแขนขาได้เป็นอย่างดีด้วย โดยคุณแม่อาจจะชวนลูกน้อยไปจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน หรือให้เขาปั่นจักรยานสามขาตามขณะที่เราเดินออกกำลัง นอกจากจะช่วยฝึกพัฒนาการด้านร่างกายแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่ได้ใช้เวลาดีๆ กับลูก เพิ่มความอบอุ่นและให้เขา สัมผัสได้ถึงความห่วงใยของคุณแม่ด้วยค่ะ 

กิจกรรมสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี

หนังสือนิทานของเด็กวัย 1-3 ปี ควรเป็นประเภทไหน และมีวิธีการเลือกหนังสือนิทานให้เหมาะกับลูกน้อยอย่างไร เรามาดูกันค่ะ

ประเภทหนังสือนิทาน : หนังสือนิทานภาพ หนังสือนิทานกึ่งของเล่น เช่น หนังสือผ้า หนังสือลอยน้ำ และหนังสือ Board Books หนังสือนิทานป็อปอัพ

  • เนื้อเรื่องต้องสั้น เหตุการณ์ในนิทานไม่สลับซับซ้อนเกินไป สีสันสดใสและหลากหลาย ใช้ภาษาไทยถูกต้อง สั้น กระชับ เข้าใจง่าย และสุภาพ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คำและภาษาไทยที่ถูกต้อง รูปเล่มมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน ไม่มีมุมแหลมคม ขนาดเล่มไม่หนาเกินไป ส่วนกระดาษที่ใช้ก็ไม่ควรบางและคมเกินไปเพราะวัยนี้เริ่มใช้มือเปิดหนา หนังสือเองได้แล้ว

  • เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดคุย ซักถามเรื่องราวในนิทานบ้าง เพราะเขาอยู่ในวัยช่างคุย สนุก และมีความสุขที่จะได้พูด

  • ชวนให้ลูกถาม-ตอบ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในนิทาน และจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติม อย่าลืมสร้างบรรยากาศการอ่านให้สนุกสนานและน่าสนใจ สร้างการจดจำที่ดีกับการอ่านให้หนังสือด้วย

  • อย่าให้ทีวี เกม และคอมพิวเตอร์เร้าความสนใจของเด็กจนเกินพอดี เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ไม่พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้

  • บรรยากาศการอ่านที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันจากคุณพ่อคุณแม่ และหวังผลให้อ่านได้หลายๆ เล่ม จะทำให้ลูกไม่อยากอ่านหนังสือเพราะไม่มีความสุข

  • หากในบ้านไม่มีหนังสือให้ลูกอ่านเลย มีแต่ของเล่นหรือคอมพิวเตอร์ ลูกก็จะหันไปหากิจกรรมอื่นแทนการอ่าน ทำให้ลูกไม่รักการอ่านในที่สุด

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ หนึ่งฤทัย โซ๊ะมัน

ส่งเสริมจินตนาการลูกน้อย

จินตนาการเริ่มได้ด้วยการเล่น เด็กในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 3ขวบ เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะว่าเด็กในวัยนี้เป็นช่่วงที่ระบบสมองของลูกกำลังพัฒนา ให้ลูกได้สนุกกับการเล่นส่องกระจก เด็กวัยประมาณ 4เดือนขึ้นไป สามารถส่องกระจกได้แล้วค่ะ การได้สนุกกับการเล่นส่องกระจก สามารถฝึกสอนพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกได้อีกทางหนึ่ง ทำให้ลูกได้เห็นตัวเอง ซึ่งในช่วงแรกๆ ลูกอาจจะยังไม่เข้าใจ และงงกับรูร่างหน้าตาของตัวเอง แต่พอสักพักลูกก็จะเริ่มชินกับภาพที่เห็น และเริ่มเรียนรู้ และเข้าใจในที่สุด โดยคุณแม่สามารถนำกระจกมาฝึกให้ลูกลองอ้าปาก ฝึกให้ลูกลองยิ้ม หรือหัวเราะ เป็นต้น ลูกก็จะสนุกไปกับสิ่งที่เห็นค่ะ ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนว่ามีเพื่อนเล่น แต่ทั้งนี้คุณแม่ก็ควรจะสลับสับเปลี่ยนการเล่นของลูกเป็นอย่างอื่นด้วยนะคะ เพื่อเสริมพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ของด้วยค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Sarinee Asawinnimit

เสริมสร้างพัฒนาการของสมองน้อย

ชวนคุณพ่อคุณแม่มากระตุ้นสมองของลูกน้อยตั้งแต่แบเบาะ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของสมองน้อย ๆ เตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการก้าวต่อไป ด้วยเทคนิคง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

1.ปกป้องลูกน้อยจากอารมณ์ตึงเครียด- ความเครียดจะชะลอพัฒนาการสมองของลูกได้ อาจจะเกิดจากลูกน้อยรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมอันตราย หรือถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการตอบสนอง

2. สิ่งแวดล้อมที่ดี – สถานที่ต้องเอื้อต่อการเติบโต มีอุปกรณ์และของเล่นให้เด็กพัฒนาทักษะ ทั้งการเห็น สัมผัส ดมกลิ่น

3. เปิดโอกาสให้ลูกเห็นโลกกว้าง – ที่นอนหรือเปลของลูก ควรเป็นเปลที่โล่ง เพื่อที่ลูกจะได้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัว เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกจะช่วยพัฒนาการสมองในช่วงนี้ได้

4. ของเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการ - เลือกของเล่นให้เหมาะกับพัฒนาการแต่ละช่วงเดือน โดยเน้นของเล่นที่เสริมทักษะและสร้างความสุข สนุกสนานพร้อมกับการเรียนรู้ วัย 0-3 เดือน เช่น กล่องดนตรี, กระจกชนิดไม่แตกใช้ติดที่เตียงไว้ให้ลูกมองหน้าตัวเอง, โมบายสีสดใส วัย 3-5 เดือน เช่น ของเล่นเขย่า หรือตุ๊กตายางบีบมีเสียง วัย 6-9 เดือน เช่น หนังสือ, บล็อกตัวต่อนิ่ม, ลูกบอลเล็กๆ สำหรับโยนและคลานตามได้ และวัย 9-12 เดือน เช่น ที่หัดเดิน, ม้าโยก, ของเล่นไขลาน, กระป๋องตักทราย เป็นต้น

5. เลือกคนดูแลเด็กที่มีคุณภาพสูง - พี่เลี้ยงเด็กที่ดีควรมีคุณสมบัติ รักเด็ก, ยิ้มง่าย, ใจดี, มีความรับผิดชอบต่อเด็ก และควรมี IQ พอสมควร ซึ่งบุคลิกและอารมณ์ของพี่เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นสมองและกาเรียนรู้ของลูกน้อย

Tips : การที่สมองจะทำงานได้จำเป็นต้องมีพลังงานที่ได้จากอาหารที่สำคัญสำหรับสมองอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กแรกเกิดอาหารที่ดีที่สุดก็คือน้ำนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือน และเมื่อเริ่มอาหารเสริมแล้ว ควรให้อาหารเสริมทุ่ดมด้วยสารอาหารทั้ง 9 ต่อไปนี้ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดไขมัน กรดไลโนเลอิก วิตามินต่างๆ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสีและทอรีน ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของสมองและร่างกาย

ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Mslipgub Hippievan

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์

เคล็ดลับคุณแม่ที่เกี่ยวข้อง