เคล็ดลับการกระตุ้นพัฒนาการ
ลูกน้อยจะเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรงและสมวัยนั้น ต้องได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยให้พัฒนาการของลูกน้อยพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะช่วยให้มีสติปัญญาที่ดีแล้ว ยังส่งผลถึงอารมณ์ของเด็กน้อยที่ดีไปด้วย
เล่นตามวัยให้ฉลาด
เล่นตามวัยให้ฉลาด
การเรียนรู้จากการเล่น ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาการสมองได้ดี แถมยังช่วยให้ลูกน้อยสนุก แทบไม่รู้ตัวเลยทีเดียวว่ากำลังเรียนรู้ผ่านการเล่นอยู่ สำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิด ถึง 4เดือน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านสมอง ร่างกาย และภาษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
- อ่านหนังสือนิทาน… ทำหน้าตลกๆ จั๊กจี้เอวเจ้าตัวน้อย
- คอยเลื่อนสิ่งของให้อยู่ตรงหน้าเจ้าตัวเล็ก โดยเฉพาะของเล่นสีสด
- ร้องเพลงง่ายๆ ที่เนื้อเพลงเป็นคำคล้องจอง
- พูดบรรยายทุกสิ่งที่คุณและลูกกำลังทำ เช่น เรากำลังจะอาบนํ้ากันนะแม่จะถอดเสื้อให้ลูก เสื้อ ของหนูสีชมพูสวยไหมเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
เห็นไหมคะ ว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็กๆได้เลย
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Champ Murinho
เพลงกล่อมลูก
อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทราบกันว่า แต่ละชาติ แต่ละประเทศ จะมีเพลงท้องถิ่น หรือเพลงประจำชาติอยู่ เพลงกล่อมลูกก็เป็นหนึ่งในจำนวนบทเพลงเหล่านั้นเช่นกัน ถือเป็นบทเพลงที่เก่าแก่ มีอายุยาวนานมากที่สุด นับตั้งแต่ที่มนุษย์ยังไม่มีภาษาพูด และยังไม่รู้จักการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเริ่มจากการเห่กล่อมด้วยกิริยาท่าทาง การโอบอุ้ม-โอบกอดลูกอย่างรักใคร่ทะนุถนอม และออกเสียงอือๆ ออๆ ในลำคอไปด้วย จากนั้นจึงค่อยๆพัฒนาเป็นเสียงสูงเสียงต่ำคล้ายเสียงดนตรี และในที่สุด เมื่อมีภาษาพูด เพลงกล่อมลูกแบบง่ายๆก็เกิดขึ้นตามภาษาพูดของแต่ละชนชาติต่างกันไป
นอกจากนั้นเพลงกล่อมลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของการได้ยินให้กับทารกในครรภ์ เพราะเสียงเพลงจากแม่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้โดยตรงตั้งแต่เด็กยังอยู่ใน ท้องแม่ ความสูงต่ำของทำนองเพลงจะกระตุ้นให้เซลล์สมองที่ทำหน้าที่รับเสียงในแต่ละ ย่านความถี่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทำให้เด็กมีความสามารถในการแยกแยะความสูงต่ำของเสียงได้ นี่คือรากฐานของพัฒนาการด้านภาษานั่นเอง
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Anchidtha Jintaprasat
เล่นอย่างไรให้เหมาะสมตามพัฒนาการของวัย
การเล่นที่เหมาะสมกับตรงช่วงวัย เช่นการเล่นที่ง่ายเกินไป เด็กจะรู้สึกเบื่อ ไม่ท้าทาย หรือหากยากเกินไปเด็กก็อาจจะท้อแท้หมดกำลังใจ รู้สึกล้มเหลวได้ แต่ถ้าเด็กเล่นได้เหมาะสมตรงกับพัฒนาการจะช่วยให้เด็กได้รับความรู้สึกประสบความสำเร็จ มีคุณค่า และรู้สึกดีต่อตนเอง ซึ่งช่วยให้เด็กเล่นได้สร้างสรรค์และมีพัฒนาการที่ดี เหมาะสมตามวัยได้ค่ะ
0-1 ขวบ วัยสำรวจ ให้เด็กได้เล่นที่กระตุ้นให้เกิดการมอง ฟัง ดม คว้า หยิบถือ เขย่า ชิม ได้อย่างปลอดภัย เช่น ห่วงยางเล็กๆ สำหรับกัด กระดิ่งกรุ๋งกริ๋ง โมบายสีสวย และเล่นกับเด็กอย่างง่ายๆ เช่น จ๊ะเอ๋ เล่นเสียงสูง ต่ำ พูดคุย หัวเราะกับเด็กอย่างสนุกสนาน
1-2 ขวบ วัยเตาะแตะ ควรส่งเสริมการเล่นประเภทดึง ลาก ต่อ เคลื่อไหวไปมาได้ เช่น รถลาก บล็อกอันใหญ่ๆ ไว้ต่อ นิทานภาพเรียนรู้คำศัพท์และสีลูกบอลสำหรับเตะ เล่นซ่อนหาและเริ่มเล่นคู่กับเด็กอื่นได้
3-4 ขวบ วัยก่อนเรียน การเล่นน้ำ เล่นทราย ปั้นดินน้ำมัน วาดรูป ระบายสี นิทาน ร้องเพลง กระโดดโลดเต้น ปั่นจักรยาน 3 ล้อ เล่นตามจินตนารการ เริ่มเล่นกัยเด็กคนอื่นได้มากขึ้น
4-6 ขวบ วัยอนุบาล กล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรง คล่องแคล่วมากขึ้น ความคิดพัฒนาขึ้นสามารถวิ่งเล่น กระโดดเล่นกลางแจ้ง เล่นสมมุติ สวมบทบาทต่างๆ เล่นกันกลุ่มเด็กได้
6 ขวบขึ้นไป วัยประถม เด็กมีระบบความคิดดีขึ้น สามารถเล่นเกมตามกฎกติกาได้ รู้จักอดทนรอคอย ผลัดกันเล่นได้ เช่น เกมเศรษฐี โดมิโน บันไดงู เล่นกีฬาเป็นกลุ่ม ซึ่งช่วยในการพัฒนาทักษะสังคมมาก
ดนตรีกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย1-3 ปี
ดนตรีเป็นเครื่องมือให้ลูกเรียนรู้ทางประสาทสัมผัสมาเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำมากขึ้น และพัฒนาการด้านร่างกายก็พร้อมเกือบเต็มที่ สามารถควบคุมแข้งขา กระโดดโลดเต้นได้อย่างใจ สามารถจับจังหวะของดนตรี อีกทั้งเสียงเพลงยังสร้างความสนุกและสุนทรียภาพในจิตใจ เสียงเพลงจึงเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นพัฒนาการอย่างครบถ้วน
หาของเล่นที่มีเสียง เช่น ของเล่นประเภทเคาะ หรือแบบเขย่าแล้วมีเสียง เช่น กลองใบเล็ก ลูกแซค เลือกที่ไซส์เล็กขนาดเหมาะมือลูก
วัยเริ่มหัดพูดควรสอดแทรกการร้องเพลงไปพร้อมๆ กับการหัดพูด ลูกจะสามารถจับจังหวะเพลง ฮัมเพลงตามจังหวะ ร้องเป็นคำคล้องจอง แถมท่าทีประกอบเพลงด้วยจะสนุกมากเลย
อัดเทปเสียงร้องของลูกให้ลูกฟัง เขาจะรู้สึกตื่นเต้นกับเสียงที่ได้ยิน กระตุ้นให้อยากส่งเสียงร้อง
ร้องเพลงที่มีเนื้อร้องประกอบกิจวัตรประจำวัน ทำให้เด็กสนุกมากขึ้น เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน
ช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งดนตรีกับการเคลื่อนไหวจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว รู้จักฟัง และแสดงออกในจังหวะที่เหมาะสม เด็กก็จะมีการพัฒนาประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหวให้มีความสัมพันธ์และแม่นยำมากขึ้นค่ะ
มากระตุ้นสมองลูกให้ฉลาดอย่างถูกวิธี
คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจพัฒนาการของลูก ด้วยการพูด และอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ รวมทั้งเด็กก่อน 6 ขวบควรได้สัมผัสของจริงมากกว่าการดูจากโทรทัศน์ เพราะจะเป็นพื้นฐานต่อยอดให้เด็กเข้าใจความหมายที่เป็นนามธรรมได้ดีขึ้น ที่สำคัญความอ่อนโยน ละเมียดละไมจากสัมผัส และน้ำเสียงของพ่อแม่จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองเด็ก ทำให้ลูกเติบโตอย่างสวยงาม และมีความฉลาดทางอารมณ์เพื่อกระตุ้นสมอง และพัฒนาการทางภาษาอย่างถูกวิธี ตามแนวทางดังต่อไปนี้
- รับฟังลูกอย่างอดทน และตั้งใจ แม้ในช่วงแรก ๆ จะยังไม่เข้าใจภาษา หรือคำพูดที่ลูกใช้ แต่เมื่อลูกรับรู้ว่ามีคนตั้งใจฟังเขา จะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากฝึกออกเสียง หรือเปล่งคำพูดใหม่ ๆ มากขึ้น และอย่าเบื่อที่จะตอบคำถามลูก เพราะการขยันตอบคำถามลูกวัยเด็กเล็กก็เพื่อกระตุ้นสมองให้เด็กเป็นคนกล้าคิด ทำให้เกิดวงจรเรียนรู้แบบถาวร
- ให้เวลาลูกตอบสนองหรือตอบคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กเล็ก ๆ ต้องการเวลาทำความเข้าใจ เพื่อเรียบเรียงความคิดก่อนที่จะสามารถสื่อสารกับคุณได้ ดังนั้นอย่าใจร้อน เร่งรัด หรือพูดแทน หรือพยายามเติมคำในช่องว่างเวลาที่ลูกพูดกับเรา ควรให้เขาได้พยายามคิด และพูดออกมาด้วยตัวเอง
- พูดคำง่าย ๆ สั้น ๆ และช้า ๆ เพราะในสมองลูกยังมีคำจำกัด อายุเขาต่างจากเรามาก ความเข้าใจในถ้อยคำต่าง ๆ จึงยังมีไม่มาก หากต้องอธิบายอะไรให้ลูกเข้าใจ ต้องปรับประโยคให้ง่าย สั้น ชัดเจน พูดทีละเรื่อง แล้วลูกจะเรียนรู้คำต่าง ๆ ได้รวดเร็ว
- ตอบสนอง และชื่นชมกับความพยายามของลูกที่จะสื่อสารกับเรา ไม่จำเป็นต้องคอยแก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด แต่สิ่งที่ควรทำคือ ทบทวนคำ หรือประโยคที่ลูกพูดให้ถูกต้อง เช่น ลูกพูดว่า "แม่ไปหลาด" แทนที่จะตำหนิว่า "ไม่ใช่ ๆ ลูกพูดผิด" ควรทวนโยคของลูกด้วยประโยคที่ถูกต้อง คือ "จ้ะ แม่ไปตลาด"
- เล่าให้นิทานให้ลูกฟัง ลองคิดเรื่องขึ้นเอง เด็กเล็กชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรือเกี่ยวกับเรื่องที่เขาคุ้นเคยในกิจวัตรประจำวัน อ่านหนังสือกับลูกทุกวัน พูดคุยกับเขา อธิบายรูปภาพ สี รูปทรง จำนวน และคำต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือ เชื่อมโยงภาพเข้ากับคำ ทั้งนี้ยังสามารถใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น ปั้นแป้งโด ใช้สีเทียนแท่งโต ๆ วาดภาพขณะที่อ่านหนังสือ และคุยกับลูกไปพร้อม ๆ กันก็ได้
ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาด ทำได้ไม่ยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องขยันตั้งใจจริง ที่สำคัญต้องมีความรักเป็นองค์ประกอบเสมอค่ะ
ส่งเสริมระบบการมองเห็นของลูก
คุณพ่อคุณแม่เชื่อไหมคะว่าเรามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาระบบการมองเห็นของลูกๆได้ด้วยเทคนิคง่ายๆค่ะ
- พยายามมองที่หน้าลูกบ่อยๆ เพราะดวงตาของคนจะมีขนาดกลมและมีการตัดกันที่ชัดเจนระหว่างตาขาวและตาดำ และที่สำคัญคือดวงตาสามารถกลอกไปมาได้
- เปลี่ยนตำแหน่งที่ลูกนอนบ้าง เพื่อให้ทารกได้เห็นสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
- หาภาพใบหน้าพ่อแม่มาวางไว้ใกล้ๆ ที่นอนของลูก เพื่อให้ลูกได้เห็นและจดจำหน้าได้เร็วขึ้น
- แขวนวัตถุประเภท 3 มิติ เช่น โมบาย นกกระดาษ ฯลฯ ในจุดที่เด็กทารกสามารถมองเห็นและเอื้อมมือหยิบได้
- พยายามเล่นกับลูกบ่อยๆ อาจจะให้ลูกมองตัวเองในกระจกพร้อมกับพูดคุยกับลูกไปด้วย
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ MaMeaw Philakaew
ฉลาดด้วยการเล่น
คุณพ่อคุณแม่สังเกตไหมคะว่าของเล่นทุกวันนี้ มีเยอะเหลือเกิน บางอันดูพิสดาร บางอันก็ดูแพ๊งงแพงง…แต่การที่จะทำให้ลูกฉลาดได้ด้วยการเล่น อยู่ที่เราจะเลือกสรรสิ่งของต่างๆให้ลูกเล่น เพื่อกระตุ้น หรือเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อย แล้วแต่ละช่วงวัย เราจะสามารถให้ลูกเล่นอะไรได้บ้าง??
- 0-3 เดือน
จริงอยู่ที่เด็กในวัยนี้ วงจรชีวิตคือ กิน นอน ขับถ่าย แต่วัยนี้ถือเป็นช่วงวัยที่เขาพยายามเรียนรู้สิ่งแวดล้อมด้วยการสัมผัส การฟังและดมกลิ่น ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกวัยนี้คือ “คุณพ่อคุณแม่” นั่งเองค่ะ อาจจะลองอุ้มเขาโยกตัวเบาๆ หรือยกมือเท้าน้อยๆขึ้นลง พร้อมร้องเพลงไปด้วย หรือไกลเปลไป ร้องเพลงไป ลูกน้อยจะรู้สึกชอบใจ และส่งเสริมระบบประสาทสัมผัสต่างๆของลูกได้มาก แต่ถ้าอยากหาของเล่นมาให้ลูกเล่นบ้าง ก็สามารถทำได้
ลองให้หนูน้อยดูหน้าในกระจก แม้ว่าในวัยนี้เขาจะมองสิ่งต่างๆแบบพร่ามัวอยู่ แต่ก็รักที่จะสำรวจสิ่งรอบข้างด้วยการมองอยู่ดี หากสังเกตจะพบว่าลูกน้อยชอบจ้องดูใบหน้าเป็นพิเศษ หากระจกใบเล็กๆ ส่องลูกตัวเองบ้าง ส่องหน้าคุณพ่อคุณแม่ ทำหน้าตลก หยอกล้อลูก รับรองว่าลูกน้อยขำกิ๊กๆกั๊กๆเลยล่ะค่ะ
ของเล่นชิ้นเล็กๆที่มีหลายสี หรือสีเดียวแต่หลายเฉด จะช่วยเสริมพัฒนาด้านการมองเห็น จะช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยพยายามเตะเท้า ขยับมือแขนและขาเพื่อไขว้คว้าของเล่น
ตุ๊กตา หรือของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่ทำจากวัสดุที่ปลอดภัย จับบีบแล้วเกิดเสียงต่างๆ ก็ส่งเสริมการใช้ประสาทสัมผัสหลายด้านไปพร้อมๆกันค่ะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Sasiwimon Wongyotrakoon
กระตุ้นพัฒนาการสมอง
ชวนคุณพ่อคุณแม่มากระตุ้นสมองลูกน้อย ตั้งแต่ลูกน้อยยังเล็กๆกันค่ะ เพราะเซลล์สมองเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ ตั้งแต่ลูกน้อยมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ และในช่วงวัยขวบปีแรก ถือเป็นช่วงทองที่ควรจะกระตุ้นพัฒนาลูกน้อยค่ะ เรามาดูวิธีการกระตุ้นพัฒนาการสมองกันค่ะ
1. การเลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่น ทั้งการสบตา กอด นอกจากจะสร้างความผูกพันแล้ว ยังช่วยให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของสมองให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นค่ะ
2. หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆในช่วงกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ สระผม จะช่วยสร้างการเชื่อมต่อของสมอง ส่งผลต่อทักษะการใช้ภาษา และสร้างความผูกพัน
3. อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ภาษา แถมยังช่วยให้ลูกหลับฝันดี นอนเต็มอิ่ม ทำให้สมองทำงานได้ดี ส่งผลให้ลูกฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว
4. สร้างสมาธิ เพื่อกระตุ้นคลื่นสมองส่วนการแก้ปัญหา วิธีง่ายๆค่ะ อุ้มลูกแนบอกขณะให้นม พูดคุย มองหน้า และสบตาให้ลูกได้ใช้เวลาจดจ่อ และรู้สึกสงบนิ่งซักระยะหนึ่ง
5. สิ่งแวดล้อมก็สำคัญค่ะ ควรจัดมุมหนึ่งให้มีของเล่นเสริมสมาธิ เช่น บล็อกไม้ จิ๊ซอว์ ไม่ควรหาของเล่นให้ลูกหลายชิ้น จะทำให้ลูกสับสน
6. การมีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน จะทำให้ลูกสามารถคาดการณ์ได้ มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่มีสมาธิที่ดี เพราะลูกจะรู้สึกมั่นคงและสบายใจกับสิ่งที่สามารถควบคุมได้
7. ดนตรีคลาสสิกในช่วงขวบปีแรก จะมีผลเชิงบวกต่อระบบประสาท ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย สมองจึงเปิดรับสิ่งต่างๆได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ Tonglak Boonsom
ฝึกกระตุ้นพัฒนาการ
การที่ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดี นอกจากเป็นไปตามวัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเป็นจตัวช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยด้านต่างๆได้ด้วยนะคะ ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อม หรือการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเล็กๆค่ะ
- วางเก้าอี้หรือโต๊ะเป็นมุม ให้ห่างกัน 1-2 ก้าว และวางของเล่นที่ลูกสนใจ
ไว้บนโต๊ะ บอกให้ลูกเดินจากเครื่อนเรือนอันหนึ่งไปยังอีกอันหนึ่ง
โดยเอื้อมมือไปเกาะก่อนแล้ว ก้าวขาตามไป เป็นการเปลี่ยนที่เกาะพยุง
จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
- ส่งลูกบอลให้ลูกถือ คุณแม่ช่วยจับแขนลูกโยนลูกบอลไปยังคุณพ่อ 2-3 ครั้ง
ถ้าลูกปล่อยลูกบอลไปได้ให้ชมทุกครั้ง ต่อจากนั้นส่งลูกบอลให้ลูก
แล้วบอกให้ลูกโยนเอง
- แสดงวิธีการต่อก้อนไม้ให้ลูกดู แล้วรื้อแบบออก ยื่นก้อนไม้ให้ลูก 1 ก้อน
แล้วบอกให้ลูกทำตาม
- ปูผ้า 2 ผืนไว้ใกล้ๆ กันบนโต๊ะ เอาของเล่นซ่อนไว้ใต้ผ้าผืนที่หนึ่ง
แล้วให้เด็กหา ทำหลายๆ ครั้ง หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นซ่อนไว้ใต้ผ้าผืนที่สองบ้าง
- ใส่ลูกเกดในขวดแสดงวิธีเอียงขวดคว่ำปากขวดลง เพื่อให้ลูกเกดหล่นออกมา
ลองให้ลูกทำตามเมื่อลูกเทลูกเกดออกมาได้ ให้ลูกเกดเป็นรางวัล ถ้าลูกทำไม่ได้
ให้คุณแม่จับมือลูกเทขวดแล้วจึงปล่อยให้ลูกทำเอง
- เล่านิทานง่ายๆ ประกอบโดย ทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ เช่น สุนัขเห่า "โฮ่งๆ" แมวร้อง "เหมียวๆ"
- ในเวลารับประทานอาหารก่อนป้อนข้าว พูดคำว่า "หม่ำๆ" เมื่อแต่งตัวเสร็จให้พูดคำว่า
"ไป" ก่อนแล้วพาเดินออกจากห้อง
- ใช้สิ่งของที่ลูกคุ้นเคย เช่น ตุ๊กตา, นม หยิบของเล่นให้ลูกดูถมาว่า "นี่อะไร" รอให้ลูกตอบ
ถ้าลูกไม่ตอบ ให้บอกและให้ลูกพูดตามแล้วถามซ้ำ จนตอบได้
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Jean Nii
เรียนรู้ผ่านการเล่น
ในยุคนี้ คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินคำว่า Play&Learn มาบ้างใช่ไหมคะ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งจะทำให้เด็กๆรู้สึกสนุก ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเรียนรู้หรือกำลังถูกสอนอยู่ค่ะ
สำหรับเด็กวัย 2-3 ปีแล้ว จินตนาการ และความเป็นตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สร้างกำลังใจให้ลูกด้วยแรงสนับสนุนและคำชม เมื่อเจ้าตัวน้อยเคลื่อนไหวได้ดีตามพัฒนาการ ส่งเสริมจินตนาการด้วยการชักชวนให้ลูกเล่นของเล่นในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ต่อบล็อกในรูปแบบที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ช่วยให้ลูกฝึกทักษะในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการเล่นบทบาทสมมติ เช่น การคุยโทรศัพท์ของเล่น หรือเล่นทำกับข้าว ขณะอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หยุดถามคำถามเป็นระยะ และชี้ที่คำศัพท์ขณะที่อ่าน
update : 19.09.2560
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย