เคล็ดลับเลี้ยงดูลูกน้อย 9
เสริมสร้างพัฒนาการของสมองน้อย
ชวนคุณพ่อคุณแม่มากระตุ้นสมองของลูกน้อยตั้งแต่แบเบาะ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของสมองน้อย ๆ เตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการก้าวต่อไป ด้วยเทคนิคง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
1.ปกป้องลูกน้อยจากอารมณ์ตึงเครียด- ความเครียดจะชะลอพัฒนาการสมองของลูกได้ อาจจะเกิดจากลูกน้อยรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมอันตราย หรือถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการตอบสนอง
2. สิ่งแวดล้อมที่ดี – สถานที่ต้องเอื้อต่อการเติบโต มีอุปกรณ์และของเล่นให้เด็กพัฒนาทักษะ ทั้งการเห็น สัมผัส ดมกลิ่น
3. เปิดโอกาสให้ลูกเห็นโลกกว้าง – ที่นอนหรือเปลของลูก ควรเป็นเปลที่โล่ง เพื่อที่ลูกจะได้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆรอบตัว เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกจะช่วยพัฒนาการสมองในช่วงนี้ได้
4. ของเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการ - เลือกของเล่นให้เหมาะกับพัฒนาการแต่ละช่วงเดือน โดยเน้นของเล่นที่เสริมทักษะและสร้างความสุข สนุกสนานพร้อมกับการเรียนรู้ วัย 0-3 เดือน เช่น กล่องดนตรี, กระจกชนิดไม่แตกใช้ติดที่เตียงไว้ให้ลูกมองหน้าตัวเอง, โมบายสีสดใส วัย 3-5 เดือน เช่น ของเล่นเขย่า หรือตุ๊กตายางบีบมีเสียง วัย 6-9 เดือน เช่น หนังสือ, บล็อกตัวต่อนิ่ม, ลูกบอลเล็กๆ สำหรับโยนและคลานตามได้ และวัย 9-12 เดือน เช่น ที่หัดเดิน, ม้าโยก, ของเล่นไขลาน, กระป๋องตักทราย เป็นต้น
5. เลือกคนดูแลเด็กที่มีคุณภาพสูง - พี่เลี้ยงเด็กที่ดีควรมีคุณสมบัติ รักเด็ก, ยิ้มง่าย, ใจดี, มีความรับผิดชอบต่อเด็ก และควรมี IQ พอสมควร ซึ่งบุคลิกและอารมณ์ของพี่เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถช่วยกระตุ้นสมองและกาเรียนรู้ของลูกน้อย
Tips : การที่สมองจะทำงานได้จำเป็นต้องมีพลังงานที่ได้จากอาหารที่สำคัญสำหรับสมองอย่างสม่ำเสมอ สำหรับเด็กแรกเกิดอาหารที่ดีที่สุดก็คือน้ำนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือน และเมื่อเริ่มอาหารเสริมแล้ว ควรให้อาหารเสริมทุ่ดมด้วยสารอาหารทั้ง 9 ต่อไปนี้ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดไขมัน กรดไลโนเลอิก วิตามินต่างๆ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสีและทอรีน ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของสมองและร่างกาย
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Mslipgub Hippievan
ฝึกกระตุ้นพัฒนาการ
การที่ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดี นอกจากเป็นไปตามวัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเป็นจตัวช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยด้านต่างๆได้ด้วยนะคะ ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อม หรือการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเล็กๆค่ะ
- วางเก้าอี้หรือโต๊ะเป็นมุม ให้ห่างกัน 1-2 ก้าว และวางของเล่นที่ลูกสนใจ
ไว้บนโต๊ะ บอกให้ลูกเดินจากเครื่อนเรือนอันหนึ่งไปยังอีกอันหนึ่ง
โดยเอื้อมมือไปเกาะก่อนแล้ว ก้าวขาตามไป เป็นการเปลี่ยนที่เกาะพยุง
จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
- ส่งลูกบอลให้ลูกถือ คุณแม่ช่วยจับแขนลูกโยนลูกบอลไปยังคุณพ่อ 2-3 ครั้ง
ถ้าลูกปล่อยลูกบอลไปได้ให้ชมทุกครั้ง ต่อจากนั้นส่งลูกบอลให้ลูก
แล้วบอกให้ลูกโยนเอง
- แสดงวิธีการต่อก้อนไม้ให้ลูกดู แล้วรื้อแบบออก ยื่นก้อนไม้ให้ลูก 1 ก้อน
แล้วบอกให้ลูกทำตาม
- ปูผ้า 2 ผืนไว้ใกล้ๆ กันบนโต๊ะ เอาของเล่นซ่อนไว้ใต้ผ้าผืนที่หนึ่ง
แล้วให้เด็กหา ทำหลายๆ ครั้ง หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นซ่อนไว้ใต้ผ้าผืนที่สองบ้าง
- ใส่ลูกเกดในขวดแสดงวิธีเอียงขวดคว่ำปากขวดลง เพื่อให้ลูกเกดหล่นออกมา
ลองให้ลูกทำตามเมื่อลูกเทลูกเกดออกมาได้ ให้ลูกเกดเป็นรางวัล ถ้าลูกทำไม่ได้
ให้คุณแม่จับมือลูกเทขวดแล้วจึงปล่อยให้ลูกทำเอง
- เล่านิทานง่ายๆ ประกอบโดย ทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ เช่น สุนัขเห่า "โฮ่งๆ" แมวร้อง "เหมียวๆ"
- ในเวลารับประทานอาหารก่อนป้อนข้าว พูดคำว่า "หม่ำๆ" เมื่อแต่งตัวเสร็จให้พูดคำว่า
"ไป" ก่อนแล้วพาเดินออกจากห้อง
- ใช้สิ่งของที่ลูกคุ้นเคย เช่น ตุ๊กตา, นม หยิบของเล่นให้ลูกดูถมาว่า "นี่อะไร" รอให้ลูกตอบ
ถ้าลูกไม่ตอบ ให้บอกและให้ลูกพูดตามแล้วถามซ้ำ จนตอบได้
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Jean Nii
เรียนรู้ผ่านการเล่น
ในยุคนี้ คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินคำว่า Play&Learn มาบ้างใช่ไหมคะ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งจะทำให้เด็กๆรู้สึกสนุก ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเรียนรู้หรือกำลังถูกสอนอยู่ค่ะ
สำหรับเด็กวัย 2-3 ปีแล้ว จินตนาการ และความเป็นตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สร้างกำลังใจให้ลูกด้วยแรงสนับสนุนและคำชม เมื่อเจ้าตัวน้อยเคลื่อนไหวได้ดีตามพัฒนาการ ส่งเสริมจินตนาการด้วยการชักชวนให้ลูกเล่นของเล่นในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ต่อบล็อกในรูปแบบที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ช่วยให้ลูกฝึกทักษะในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการเล่นบทบาทสมมติ เช่น การคุยโทรศัพท์ของเล่น หรือเล่นทำกับข้าว ขณะอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หยุดถามคำถามเป็นระยะ และชี้ที่คำศัพท์ขณะที่อ่าน
ลูกติดแม่มาก
ทารกทุกคนล้วนเจอกับความวิตกกังวลจากการแยกจากและเป็นเรื่องที่ธรรมดาที่เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์แบบนี้ อาการนี้จะเริ่มเมื่อลูกเข้าใจว่าคนเหล่านี้อาจจะไม่ได้อยู่ข้างๆลูกตลอดเวลา เด็กเริ่มมีอาการกระวนกระวายกับการต้องแยกจากพ่อแม่ ลูกจะเริ่มเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น เมื่อเห็นคุณแม่ใส่รองเท้า ลูกจะเริ่มเข้าใจว่าแม่กำลังจะออกจากบ้านและจากลูกไป อาการเหล่านี้จะพบได้มากที่สุดเมื่อลูกมีอายุระหว่าง 9-18 เดือน
- หากคุณแม่กำลังคิดว่าจะหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูกน้อย ควรหาก่อนที่จะคลอดลูกหรือลูกยังแรกเกิดอยู่ จะช่วยทำให้ลูกมีเวลาเพียงพอที่จะคุ้นเคยกับผู้ช่วย และเมื่อลูกโตขึ้น ลูกน้อยจะไม่ติดแม่มากเกินไป หรือมีความกระวนกระวายเมื่อต้องห่างกัน
- ช่วงวัยนี้ ลดการแยกจากให้น้อยที่สุด
- ฝึกซ้อมด้วยการให้ลูกเป็นผู้เริ่ม ด้วยการให้ลูกคลานไปที่ห้องอื่นด้วยตัวเอง และปล่อยให้ลูกอยู่ที่นั่นสักหนึ่งนาที แล้วคุณแม่ค่อยตามไป
- อย่าลืมบอกลาลูกเสมอ จูบและกอดลูกเมื่อต้องจากลูกไป บอกลูกว่าคุณกำลังจะไปไหน และจะกลับมาเมื่อไหร่ อย่าให้การบอกลายืดเยื้อนัก อย่าหนีแอบบออกไป เพราะลูกจะยิ่งเสียใจ
แก้ปัญหาลูกไม่กินข้าว
คุณแม่คนไหนปวดหัวกับลูกน้อยที่ไม่ยอมทานอาหารบ้างไหมคะ กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้แนะแนวการแก้ปัญหา ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวค่ะ ลองทำตามกันดูนะคะ
1. ถ้าให้นมมากเกินไป ต้องลดนมลง เพราะเมื่อเด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป อาหารหลักคือข้าว (อาหาร 5 หมู่ ไม่ใช่นมอีกต่อไป) เด็กที่มีปัญหาในการกินข้าว อาจต้องจำกัดให้นมไม่เกิน 16 ออนซ์ต่อวัน หรือเท่ากับนม 8 ออนซ์ 2 มื้อ เด็กบางคนที่ตื่นมากินนมในเวลากลางคืน ก็ควรงดนมมื้อกลางคืนด้วย เพราะนมช่วงเช้ามืด มักจะขวางอาหารมื้อเช้า ทำให้เด็กไม่อยากกิน น
2. ทิ้งช่วงห่างระหว่างมื้ออาหาร (นมกับข้าว) อย่างน้อย 4 ชั่วโมง แนะนำให้ทำตารางเวลาการให้อาหารไว้เพื่อความสะดวกในการประเมินความเหมาะสมของอาหารและระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อ
3. งดอาหารหวานทุกชนิด เช่น ขนมถุง ขนมซอง ไอศกรีม น้ำอัดลม น้ำหวาน ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต หลังกินอาหารเหล่านี้ จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งไปกดศูนย์การหิวซึ่งอยู่ในสมองของคนเรา ทำให้เด็กรู้สึกอิ่ม ไม่อยากอาหาร
4. เวลากินอาหารควรเป็นบรรยากาศสบายๆ ในมื้ออาหารไม่ควรคาดหวัง เข้มงวด หรือทำให้เด็กรู้สึกเครียด ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ปริมาณอาหารที่เด็กกิน
5. ไม่ควรดุว่าลงโทษ แสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรือพูดให้เด็กรู้สึกผิด
6. ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในการกิน เมื่อเด็กอายุ 1 ป จะเริ่มตักข้าวกินเองได้ เราต้องยอมให้ข้าวหกเลอะได้บ้าง ไม่ควรป้อน หรือพยายามบังคับให้เด็กกิน และหาอาหารที่เด็กสามารถใช้มือหยิบจับกินเองได้สะดวก เช่น น่องไก่ ข้าวเหนียวปั้น จะช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกกับการกินอาหาร
7. ตักอาหารน้อยๆ ในถ้วยหรือจานสำหรับเด็ก ถ้าไม่พอจึงค่อยเติม การตักอาหารพูนจาน ยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินอาหาร
8. ถ้าเด็กไม่กิน หรือเล่นอาหาร ให้เก็บอาหาร โดยไม่ให้นมหรือขนมอีกเลยจนกว่าจะถึงอาหารมื้อใหม่ ต้องตัดใจ แต่ถ้าหากเด็กหิวจริงๆ ก็สามารถนำอาหารมื้อเดิมมาอุ่นและให้ทานได้ แต่ห้ามให้ทานนมหรือขนมเด็ดขาด มิเฉ่นนั้นเด็กจะติดเป็นนิสัย
9. ให้เด็กกินอาหารพร้อมผู้ใหญ่ จะช่วยให้เด็กกระตุ้นอยากอาหารมากขึ้น แถมยังสร้างบรรยากาศภายในครอบครัวได้อีกด้วย
10. สร้างระเบียบวินัยการกินให้กับลูก เช่น ไม่ควรเล่นไปกินไป หรือการทานอาหารแต่ละมื้อไม่ควรเกิน 20-30 นาที
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากคุณ สุภาวดี กาฬสุวรรณ
เสริมพัฒนาการเด็กทารก
คุณแม่ทราบไหมคะว่า แม้ลูกน้อยยังอยู่ในช่วงทารก คุณแม่ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยได้เลยนะคะ
1. สองภาพที่แตกต่าง
ถือรูปภาพ 2 รูป ที่คล้ายกันให้ลูกมอง โดยวางให้ห่างจากใบหน้าของลูกประมาณ 8-12 นิ้ว เช่น ภาพรูปบ้านที่เหมือนกันทั้งสองรูป แต่อีกรูปหนึ่งมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ข้างบ้าน แม้ยังเป็นเด็กทารกแต่เขาสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างนี้ได้ เป็นการสร้างความจำที่จะเป็นพื้นฐานในการจดจำตัวอักษรและการอ่านสำหรับลูกต่อไป
2. กระจกเงาวิเศษ
ทารกน้อยเกือบทุกคนชอบส่องกระจก เขาจะสนุกที่ได้เห็นเงาของตัวเองในกระจกโบกมือหรือยิ้มแย้มหัวเราะตอบออกมาทุกครั้ง
3. ชมวิวด้วยกัน
พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และบรรยายสิ่งที่เห็นให้ลูกฟัง เช่น โอ้โหต้นไม้ต้นนี้มีนกเกาะอยู่เต็มเลย ดูสิลูกบนนั้นมีนกด้วย การบรรยายสิ่งแวดล้อมให้ลูกฟังสร้างโอกาสการเรียนรู้คำศัพท์ให้กับลูก
4. เสียงประหลาด
ทำเสียงเป็นสัตว์ประหลาด คุ๊กคู ๆ หรือทำเสียงสูง ๆ เลียนแบบเสียงเวลาที่เด็ก ๆ พูด ทารกน้อยจะพยายามปรับการรับฟังเสียงให้เข้ากับเสียงต่าง ๆ จากพ่อแม่
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ วริทธิ์นันท์ รอดบรรจบ
วิธีเล่นกับทารก
“การเล่น” กับทารก นอกจากจะเพิ่มความสนุกสนาน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างในครอบครัวได้นั้น
ยังเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับทารกได้อีกด้วยนะคะ แต่สิ่งที่ควรคำนึงในการเล่นกับทารก คือพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเขา ว่าเราควรจะเสริมสร้างพัฒนาการในส่วนใด และควรเล่นแบบไหน
เรามาดูพัฒนาการแต่ละช่วงวัย และการเล่นที่เหมาะสมกับลูกน้อยกันค่ะ
-อายุแรกเกิด - 3 เดือน เด็กในช่วงอายุนี้จะสามารถมองเห็นได้ในระยะที่ไกลขึ้นมาอีกนิด จากช่วงแรกเกิดที่สามารถมองเห็นได้แบบระยะใกล้ๆ “ของเล่น” ในช่วงวัยนี้ควรใช้ของเล่นที่ช่วยฝึกสายตาดวงน้อยๆ ของลูก โดยพ่อแม่อาจจะใช้โมบายรูปทรงต่างๆ ที่สามารถเคลื่อนไหวได้แขวนอยู่บนศีรษะเหนือเปลนอนของลูก เพราะในขณะที่ลูกนอนกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ภายในเปลจะได้ใช้สายตามองโมบายที่ค่อยๆ เคลื่อนไหว หรืออาจจะมีเสียงดนตรีเบาๆ เพื่อช่วยฝึกการใช้สายตา และฟังเสียงไปด้วย
-อายุ 4 – 6 เดือน เด็กวัยนี้สามารถใช้มือหยิบจิบของใกล้ๆ มือได้บ้างแล้ว ถึงแม้จะยังไม่ค่อยคล่องนัก และที่สำคัญชอบนำของที่หยิบติดมือมานำมาเข้าปากเสียด้วยซิ ดังนั้นจึงพ่อแม่จึงต้องระวังอย่างมาก ไม่ควรให้ลูกเล่นของเล่นที่มีชิ้นเล็กเกินไปหรือดูจากข้างกล่องผลิตภัณฑ์ที่บอกอายุที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้อาจจะใช้ลูกบอลผ้าที่มีเสียงเบาๆ เวลาเขย่า มีน้ำหนักเบาไว้ให้ลูกลองเล่นหยิบจับ หรือบีบๆ เล่น ก็จะช่วยเสริมพัฒนาการที่ดีได้ไม่ยาก
-อายุ 6 – 12 เดือน เด็กวัยนี้จะสามารถใช้มือ และสายตาได้ดีขึ้น และจะเริ่มชอบสำรวจรวมถึงสามารถหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กๆ ได้คล่องขึ้นแล้ว ของเล่นที่เหมาะกับเขา หากมีปุ่มกดๆ แล้วเกิดเสียง ให้เขาเขย่า จะเป็นการกระตุ้นความสนใจของเขาได้ดี รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อมือไปในตัว แต่ระวังในเรื่องการขว้างของเล่น ด้วยเขาจะเริ่มมีแรงมากขึ้นแถมยังสนุกกับการขว้างของเล่นด้วยซิ พ่อแม่จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในการเล่นกับลูกวัยนี้ หรืออาจหาของเล่นรูปสัตว์ต่างๆ มาดึงดูดความสนใจ มีเสียงเวลาบีบ รับรองว่าลูกจะสนุกและมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีได้อย่างแน่นอน
-อายุ 6 – 12 เดือน เด็กวัยนี้จะสามารถใช้มือ และสายตาได้ดีขึ้น และจะเริ่มชอบสำรวจรวมถึงสามารถหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กๆ ได้คล่องขึ้นแล้ว ของเล่นที่เหมาะกับเขา หากมีปุ่มกดๆ แล้วเกิดเสียง ให้เขาเขย่า จะเป็นการกระตุ้นความสนใจของเขาได้ดี รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อมือไปในตัว แต่ระวังในเรื่องการขว้างของเล่น ด้วยเขาจะเริ่มมีแรงมากขึ้นแถมยังสนุกกับการขว้างของเล่นด้วยซิ พ่อแม่จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในการเล่นกับลูกวัยนี้ หรืออาจหาของเล่นรูปสัตว์ต่างๆ มาดึงดูดความสนใจ มีเสียงเวลาบีบ รับรองว่าลูกจะสนุกและมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดีได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Nipa Hapanna
update : 19.09.2560
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย