Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

นี่หรือที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด?

แทนที่จะรู้สึกดีใจเมื่อลูกน้อยที่เฝ้ารอคอยคลอดออกมา...
ทำไมใจถึงรู้สึกไม่แจ่มใส หงุดหงิด...
หรือว่านี่เป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blue) ที่เคยได้ยินอยู่บ่อยๆ?
หรือเป็นความเครียดที่เกิดจากการเลี้ยงลูก?
ว่าแต่อาการสองอย่างที่ว่านี้ไม่เหมือนกันหรือ?
หากทำความเข้าใจถึงเรื่องดังกล่าวเอาไว้ให้ดี
ก็จะสามารถมองเห็นความรู้สึกที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถทำความเข้าใจได้
ในมุมมองของบุคคลที่สาม

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคืออะไร?

พอได้ยินว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

หลายคนคงจะคิดว่าเป็นแค่ปัญหาทางด้านจิตใจใช่ไหม?

แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นอาการที่มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอดอย่างลึกซึ้ง

ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเป็นกันได้

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ขอให้วางใจได้

มีลักษณะเป็นอย่างไร?

เหตุใดจึงเกิดอารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด อยากจะร้องไห้ออกมา หรือบางทีก็นอนไม่ค่อยหลับ ตั้งแต่หลังคลอดเป็นระยะเวลาประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ อารมณ์ของคุณแม่อาจจะแปรปรวน ต้องทนทรมานอยู่กับความเป็นกังวลและความรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่มีเหตุผลดังที่กล่าวมาก็ได้ แต่นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างหนึ่งหลังคลอดที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับใครก็ได้ซึ่งเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น สิ่งที่สำคัญก็คือไม่คิดมากจนเกินไป

เหตุใดจึงเกิดขึ้น?

ฮอร์โมนเพศหญิงที่ถูกหลั่งออกมาเป็นจำนวนมากในระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะลดปริมาณลงอย่างฉับพลันหลังคลอด กล่าวกันว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสภาพจิตใจ ทั้งนี้ก็มีกรณีที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลใจที่เกิดขึ้นกับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงด้วย แต่เมื่อความสมดุลของฮอร์โมนเข้าที่เข้าทางแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะหายกันไปเองตามธรรมชาติ

ต่างจากความเครียดที่เกิดจากการเลี้ยงลูกหรือไม่?

สาเหตุใหญ่ที่สุดของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็คือการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมน แต่ความเครียดจากการเลี้ยงลูกที่ยังไม่เคยชิน ความเหน็ดเหนื่อยอันเนื่องจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอเพราะต้องให้นมลูกในตอนกลางคืนนั้น ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน พยายามไม่สะสมความเครียดและใส่ใจระบายความเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จะทำอย่างไรหากตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด?

ไม่มีกะใจจะดูแลลูก

น้ำตาลไหลออกมาไม่หยุด....

หากตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นจริงๆ

ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรดี?

เป็นอาการที่เกิดเพียงชั่วครู่ชั่วคราวรักษาได้ด้วยการพักผ่อน

เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดจากความสมดุลของฮอร์โมน คนส่วนใหญ่ก็กลุ้มใจกับเรื่องดังกล่าวไม่มากก็น้อย อย่าตำหนิตัวเองว่า “ทั้งๆ ที่ลูกคลอดออกมาแล้วแต่ฉันกลับตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ไม่แปลกหรือ?” ให้คิดเสียว่า “ช่วงระยะเวลานี้ก็เป็นอย่างนี้แหละ” การไม่ฝืนพยายามจนเกินกำลังและพักผ่อน การลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจก็จะทำให้หายจากอาการดังกล่าวได้

ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

หากแบกรับความกังวลใจเอาไว้เพียงคนเดียว สภาพจิตใจก็จะแย่ลงเรื่อยๆ เพียงเล่าให้สามีหรือเพื่อนฟังเท่านั้นก็จะทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้ การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน หากพยายามที่จะทำให้สมบูรณ์แบบก็จะทำให้เกิดความเครียด บางครั้งควรจะขอให้คุณตาคุณยายหรือคุณปู่คุณย่าช่วยเลี้ยงแล้วก็ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศทำจิตใจให้สดชื่น ขอให้คนรอบข้างช่วยเหลือบ้างจะเป็นการดี

หากนานเรื้อรังควรจะทำอย่างไรดี?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วคราว โดยปกติแล้วเมื่อเวลาผ่านไปก็จะหายไปเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าหลังคลอดผ่านไป 4 สัปดาห์แล้ว สภาพจิตใจยังแปรปรวนอยู่อย่างนั้นก็ควรจะปรึกษาแพทย์ดูสักครั้ง เช่น ในตอนที่ไปตรวจสุขภาพร่างกายของลูก อาจจะทำให้รู้สึกดีขึ้นก็ได้ ไม่ว่าอย่างไรก็อย่าคิดมากเกินไป ลองค้นหาทางแก้ไขดูก่อน

มากำจัดความเครียดที่เกิดจากการเลี้ยงลูกกันเถอะ ~ก่อนอื่นเริ่มจากสิ่งที่คุณแม่ทำได้~

แม้จะผ่านพ้นช่วงภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไปแล้ว

แต่ในระหว่างที่เลี้ยงลูกที่ยังไม่เคยชิน และการใช้ชีวิตที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ก็คงจะรู้สึกหงุดหงิดอยู่บ่อยๆ ใช่ไหม

แต่สิ่งที่ลูกน้อยอยากจะเห็นที่สุดก็คือรอยยิ้มของคุณแม่

การระบายความเครียดออกไปก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลูกด้วย

ก่อนอื่น จะขอแนะนำวิธีการกำจัดความเครียดที่คุณแม่สามารถปฏิบัติด้วยตัวเองเพียงลำพัง

แต่ทว่าแต่ละคนก็ต่างกันออกไป ขอให้ดูตัวอย่างด้านล่างอ้างอิง

แล้วลองหาวิธีสร้าง “รอยยิ้ม” ของตัวเองดู!

ไม่ไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบ

หากจะทำทั้งงานบ้านและเลี้ยงลูกให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ภาระที่แบกรับก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาเหตุให้ทั้งร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้า การตัดใจคิดว่า “ช่างมันเถอะ” บ้างนั้นเป็นความคิดสำคัญที่จะทำไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเลี้ยงลูกด้วย หากคุณแม่เหนื่อยก็ไปซื้อกับข้าวมาทานบ้าง บ้านจะรกไปบ้างก็ไม่ต้องไปมอง

การร้องไห้เป็นหน้าที่ของทารก ถึงลูกจะร้องไห้งอแงขึ้นมาก็บอกให้ “รอเดี๋ยวนะลูก” ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนวิ่งเข้าไปดูเดี๋ยวนั้นก็ได้ ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ แต่มองหาตัวเองที่ทำใจคิดได้ว่า “ช่างมันเถอะ” ถ้าคุณแม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสนุกสนาน ลูกก็จะมีความสุขไปด้วยแน่ๆ!

นอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จนกว่าจะมีการสร้างจังหวะในการดำเนินชีวิตของทารก คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงร้องตอนกลางคืน แต่หากนอนหลับไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงแล้วยังทำให้จิตใจห่อเหี่ยวอีกด้วย หากตอนกลางคืนนอนหลับได้ไม่สนิทก็ควรจะนอนกลางวันพร้อมกับทารก ใส่ใจหาเวลานอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มาหาเพื่อนที่เป็นคุณแม่เหมือนกันเถอะ

บรรดาคุณแม่ที่รู้จักกันสามารถแบ่งเบาความกลุ้มใจที่เหมือนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุกข์ใจที่เก็บเอาไว้คนเดียว คุณแม่ทุกคนสามารถรับรู้และเข้าใจความรู้สึกดังกล่าวร่วมกันได้ พยายามไปในสถานที่ที่มีบรรดาคุณแม่ไปรวมตัวกันและหาคุณแม่ที่นิสัยเข้ากันได้ ทั้งนี้ก็มีกรณีที่คุ้นหน้าคุ้นตากันในศูนย์เด็กเล็กและศูนย์ช่วยเลือกการเลี้ยงดูลูกในท้องถิ่น ในระยะหลังๆ ก็มีคนที่รู้จักกันผ่าน SNS (Social Networking Service) ในอินเตอร์เน็ต และคบหาจนสนิทสนมกัน แต่หากรู้สึกกดดันที่จะต้องหาคุณแม่จนกลับทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องฝืนทำ

กำหนดให้เวลาที่ลูกนอนหลับเป็นเวลาแห่งการพักผ่อน!

เวลาที่ลูกนอนหลับเป็นเวลาที่คุณแม่จะได้พักผ่อนหย่อนใจ ส่วนใหญ่อาจจะใช้เวลาดังกล่าว ทำงานบ้านที่คั่งค้างก็ได้ แต่บางครั้งลองใช้เวลาดังกล่าวเพื่อการรีเฟรชตัวเองบ้างดีไหม? เช่น ไปนั่งฟังเพลงที่ชอบในอีกห้องหนึ่ง อ่านหนังสือนิตยสาร หรือทำสิ่งที่อยากทำ ที่อยากจะแนะนำก็คือ การเปิดดีวีดีดูหนัง ละครประเภทเศร้าซึ้งใจแล้วร้องไห้ให้เต็มที่ กล่าวกันว่าน้ำตาช่วยกำจัดความเครียดได้!

ให้รางวัลกับตัวเอง

ในแต่ละวันที่ยุ่งเหยิง อย่าลืมให้รางวัลเล็กๆน้อยๆ กับตัวเองที่พยายามปฏิบัติหน้าที่บ้าง เช่น สั่งอาหารกลางวันหรูๆ มาทาน ซื้อกระเป๋าที่อยากได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือเพื่อผ่อนแรงในการทำงานบ้างก็อ้อนขอให้คุณพ่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ เป็นต้น หากทำให้คุณแม่อารมณ์แจ่มใสขึ้นแล้วล่ะก็คุณพ่อต้องเห็นด้วยแน่ๆ!

การเริ่มทำงานก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

หากเหนื่อยล้ากับการเลี้ยงลูกจนทนไม่ไหวแล้ว การตัดสินใจเริ่มทำงานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าเอาลูกไปฝากเลี้ยงที่เนอร์สเซอรี่ ช่วงเวลาที่อยู่กับลูกสั้นลงก็จริงแต่จะทำให้เวลาที่ลูกกับคุณแม่อยู่ด้วยกันกลายเป็นเวลาที่มีค่าขึ้นมา หลายคนพูดว่าการทำเช่นนี้ทำให้จัดแบ่งเวลาได้ดีขึ้นด้วย

มากำจัดความเครียดที่เกิดจากการเลี้ยงลูกกันเถอะ ~ขอความร่วมมือ~

หากพยายามที่จะทำทุกอย่างคนเดียว

ก็จะต้องเกิดความเครียดขึ้นจนได้

การเลี้ยงลูกไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำเพียงคนเดียว

อย่าฝืน มาขอความร่วมมือจากคนรอบข้างกัน!

ร่วมมือกับคุณพ่อ

เพราะเป็นลูกของทั้งสองคน ให้คุณพ่อช่วยเลี้ยงลูกด้วย เช่น แบ่งหน้าที่ให้คุณพ่ออาบน้ำให้ลูก หรือวันเสาร์ก็ฝากลูกไว้กับคุณพ่อ ส่วนคุณแม่ก็ออกไปช็อปปิ้งกับเพื่อนๆ เป็นต้น หากคุณแม่ได้รับความช่วยเหลือในการจัดสรรเวลาส่วนตัวของตนเองได้ก็จะรู้สึกเบาใจเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

แต่สำหรับคุณพ่อที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานล่ะ จะทำอย่างไรจึงจะให้มาช่วยเลี้ยงลูกด้วยความรู้สึกอันดีได้?

ใช้วิธีการขอร้องที่ดีและชื่นชมคุณพ่อกัน

ใจจริงแล้วคุณแม่อยากจะให้คุณพ่อช่วยทำโดยคุณแม่ไม่ต้องเอ่ยปากขอร้อง แต่ถึงอยากจะช่วยทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกก็ตามคุณพ่อส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี จะเทียบไปแล้วคุณพ่อยังเป็นมือใหม่กว่าคุณแม่มาก บอกสิ่งที่ต้องการจะให้ช่วยอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมทั้งสอนวิธีทำ

อีกทั้งการขอร้องให้ช่วยแบ่งเบางานอย่างนุ่มนวล เช่น “ถ้าช่วยดูดฝุ่นระหว่างที่แม่ตากผ้าจะขอบคุณมากๆ เลย” เมื่อช่วยทำเสร็จแล้วก็บอกว่า “ขอบคุณค่ะ” แสดงความรู้สึกขอบคุณให้รับรู้แล้วก็อย่าลืมชม เช่น “พ่อให้นมลูกเก่งจัง!” คุณพ่อต้องรู้สึกอยากช่วยทำขึ้นมาอย่างแน่นอน!

คุณพ่อที่ทำงานยุ่งล่ะ?

อาจจะรู้สึกไม่ดีก็ได้หากจะขอให้คุณพ่อที่ทำงานยุ่งมาช่วย แต่เด็กเป็นลูกของทั้งสองคน แม้คุณพ่อจะยังไม่กลับมาตอนเวลาที่ลูกยังตื่นอยู่ แค่ขอให้ช่วยไปทิ้งขยะในตอนเช้าเท่านั้น ภาระที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ก็จะเปลี่ยนไป

อีกทั้ง สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณพ่อจะสามารถช่วยทำให้แก่คุณแม่ได้ก็คือ การฟังเรื่องของคุณแม่ คุณพ่อต้องทำงานหนักก็จริงแต่คุณแม่ก็ทำงานหนักด้วยเช่นกัน แค่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีใน 1 วัน พูดคุยถึงสถานการณ์และความรู้สึกของกันและกันเท่านั้น ก็สามารถทำให้ไม่เกิดความเครียดสะสมได้แล้ว ลองกำหนดให้มีเวลาสนทนาระหว่างสามีภรรยาสำหรับ “คุยเรื่องลูกกันทุกวันนะ”

หากคุณตาคุณยายช่วยได้ก็ขอให้ช่วย

คุณตาคุณยายและคุณปู่คุณย่ามีความสุขที่จะได้อยู่กับหลาน คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ได้ เวลาที่กลับไปเยี่ยมบ้านหรือเวลาที่พ่อแม่มาเที่ยวที่บ้าน ควรจะขอความช่วยเหลือ อาจจะขอให้คุณตาคุณยายช่วยดูแลหลานแล้ว คุณแม่ก็ออกไปเดทกับคุณพ่อสองคนบ้างก็จะดีเหมือนกัน

เมื่อรีเฟรชได้แล้วก็อย่าลืมกล่าวคำขอบคุณหรือบางทีอาจจะเตรียมของฝากติดไม้ติดมือเพื่อแสดงความขอบคุณก็จะดีไม่น้อย คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายเป็นรุ่นพี่ของคุณพ่อคุณแม่หากไปขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกฝ่ายนั้นก็จะดีใจ หากคิดว่าไม่ว่าจะเป็นวิธีการอุ้มหรือเล่นกับเด็กล้วนแล้วแต่ “สมกับที่เป็นรุ่นพี่!” ก็อย่าลืมพูดชมออกไปให้อีกฝ่ายรู้ การสร้างความสัมพันธ์อันดีเอาไว้จะทำให้การขอความช่วยเหลือในครั้งต่อไปทำได้ง่ายขึ้น

ภาวะ Baby Blue

ภาวะ Baby Blue

“Baby Blue” ถือเป็นอีกชื่อหนึ่งของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน กับโปรเจนเตอโรนในปริมาณที่สูง แต่พอคลอดลูก สองฮอร์โมนนี้จะต่ำลงไปในทันที ผู้หญิงบางคนที่มีความไวต่อความรู้สึก หรือมีประสบการณ์ในชีวิตที่ไม่ค่อยดี จะเกิดอาการนี้ได้ง่าย โดยจะมีอาการทางจิต ประสาทหลอนๆ ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย อาจเป็นหนักถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรืออยากฆ่าตัวตาย อาการเหล่านี้ คนรอบตัวสามารถสังเกตได้โดย คุณแม่จะมีอาการซึม ไม่ร่าเริง สีหน้าเศร้า เหงา แต่ถ้าถามว่าอันตรายไหม อาจจะต้องตอบว่าอาการนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากเป็นในระยะเวลาสั้น และสามารถหายได้เอง ก็ไม่น่ากังวลอะไร แต่ถ้าอารมณ์ และอาการรุนแรง แนะนำปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางรักษาต่อไปค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ th.thecabinbangkok.co.th

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์

เคล็ดลับคุณแม่ที่เกี่ยวข้อง