แพทย์เตือน ผู้ปกครองไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้กับ เด็กแรกเกิด ไปจนถึง 1 ปี
แพทย์เตือน ผู้ปกครองไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้กับ เด็กแรกเกิด ไปจนถึง 1 ปี เนื่องจาก เด็กแรกเกิด มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายต่อระบบประสาท พร้อมแนะวิธีป้องกัน โควิด-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งในประเทศไทย ทำให้ทุกคน ต้องเพิ่มการป้องกันตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือด้วยสบู่ การเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี ซึ่งเด็ก ๆ เอง ก็มีหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอยู่แล้ว แต่สำหรับเด็กแรกเกิด ไปจนถึงอายุ 1 ปีนั้น ยังไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กทารกแรกเกิด ไปจนถึง 1 ปี ไม่ควรสวมหน้ากาก เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ เนื่องจากทารกแรกเกิดจะหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถ ในการหายใจชดเชยด้วยการใช้ปากช่วยหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศ หรือออกซิเจน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้
ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในการใส่หน้ากากคลุมหน้า หรือหน้ากากอนามัย
การสวมหน้ากากให้เด็กทารกแรกเกิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ดังนี้
1. ทารกแรกเกิด หายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่สามารถใช้ปาก เพื่อช่วยหายใจได้ เมื่อมีการขาดอากาศ หรือ ออกซิเจน ดังนั้นวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาผลิตเป็นหน้ากาก หากมีคุณสมบัติในการต้านต่อการไหลของอากาศเข้า - ออก สูงเกินไป อาจทำให้ทารกหายใจได้ไม่เพียงพอ และมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารก
2. วัสดุพลาสติกที่ใช้บังหน้าทารก อาจมีความคมบาดใบหน้า และดวงตาของทารกได้
เด็กอายุเท่าไร ถึงสามารถใส่หน้ากากได้
ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัย มีคำแนะนำว่า ไม่ควรสวมให้กับเด็กแรกเกิด เพราะทารกแรกเกิด จะใช้การหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการใช้ปากหายใจได้เมื่อมีการขาดอากาศ หรือ ออกซิเจน ดังนั้นวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาผลิตเป็นหน้ากาก หากมีคุณสมบัติในการต้านต่อการไหลของอากาศ เข้า - ออก สูงเกินไปอาจทำให้ทารกหายใจได้ไม่เพียงพอ และมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้
เด็กทารกแรกเกิดไปจนถึง 1 ปี พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้ เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้ และในกรณีการใช้วัสดุพลาสติกบังหน้าทารก ความคมของพลาสติกอาจทำให้บาดใบหน้า และดวงตาของทารกได้
เด็กอายุ 1 - 2 ปี เด็กบางคน สามารถถอดหน้ากากเองได้เมื่อรู้สึกอึดอัดหากจำเป็นต้องใส่หน้ากากควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และใส่เพียงระยะเวลาสั้นที่สุด
เด็กอายุมากกว่า 2 ปี สวมใส่หน้ากากอนามัยเองได้ สามารถถอดหน้ากากออกได้เมื่อรู้สึกอึดอัด ยกเว้นเด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสมองพ่อแม่ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
หน้ากากสำหรับเด็ก แนะนำเป็น “หน้ากากผ้า” และใส่เฉพาะช่วงที่ต้องออกไปในพื้นที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยหน้ากากผ้า สามารถทำได้เองง่าย ๆ จากเศษผ้าสะอาด ๆ ภายในบ้าน
เคล็ดลับสอนเด็กสวมหน้ากากอนามัย
ใส่ให้ดูเป็นตัวอย่าง
ในวัยเด็กสักประมาณ 1 ขวบขึ้นไป มักชอบเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ พ่อแม่จึงควรปลูกฝังพฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านให้กับลูกน้อย ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างนิสัยสุขอนามัยที่ดี
ใส่ให้กับของเล่นชิ้นโปรด
กรณีลูกน้อยไม่ยอมใส่หน้ากากก่อนออกจากบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ อาจใช้วิธีลองสวมหน้ากากอนามัยให้กับของเล่น หรือตุ๊กตา ตัวโปรดดูเพื่อดึงดูดความสนใจให้เด็ก ๆ อยากมีเพื่อนสวมหน้ากากอนามัยไปด้วยกัน
ชมเชย และให้รางวัล
หากครั้งแรกลูกไม่ยอมใส่ไม่ควรดุว่า ลองเริ่มใหม่อีกครั้ง เมื่อหนูน้อยยอมสวมหน้ากากแต่โดยดี ผู้ปกครองควรชมด้วยคำพูด หรือให้ของรางวัลเพื่อเป็นการกระตุ้น ให้พวกเขาอยากสวมในครั้งต่อ ๆ ไป
ความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จากผู้ใหญ่สู่เด็กทารก
รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช กรรมการบริหาร ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์สาขาทารกแรกเกิด และปริกำเนิด พูดถึงวิธีการดูแลเด็กเล็กให้ห่างไกลจากโควิด-19 ก่อนจะแนะนำต่อไปว่า
“ ไม่พาเด็กไปในที่สุ่มเสี่ยง พาออกไปข้างนอกตามที่จำเป็น เช่น การไปโรงพยาบาล เพื่อรับการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ตามที่แพทย์นัด หรือเด็กมีอาการไม่สบาย ในกรณีเหล่านี้ ก็สมควรที่จะต้องพาไปโรงพยาบาล แต่หากจะพาออกไปซื้อของด้วยกัน หรือพาไปเที่ยวนอกบ้าน แบบนี้ก็ควรที่จะต้องเว้นไว้ก่อน ”
จะเห็นได้ว่า บุคคลที่จะพาเชื้อโรคมาสู่เด็กแรกเกิดก็คือ ผู้ใหญ่ ฉะนั้น ผู้ใหญ่ในบ้าน ต้องสำรวจตัวเองว่ามีโอกาสนำเชื้อมาให้เด็กในบ้านหรือไม่ และไม่พาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดด้วย
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่ควรให้พาเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดออกนอกบ้าน เพราะมีโอกาสที่จะสัมผัสผู้คนเยอะ แม้จะไม่มีเชื้อโควิด ก็ยังมีเชื้อโรคที่รับมาทางระบบทางเดินหายใจได้ หรือหากมีความจำเป็น ก็แนะนำให้อุ้มแนบกับอก หรือนำเด็กใส่รถเข็นที่มีผ้าคลุมปิด เว้นระยะห่างจากผู้อื่นในระยะ 2 เมตรอย่างเคร่งครัด และให้งดการหอมแก้มเด็ก และใกล้ชิดเด็กมากเกินไป
จะเห็นได้ว่ากุญแจสำคัญของการป้องกันเด็กเล็กให้ห่างจากโควิด-19 นั้น คือ ผู้ใกล้ชิดกับเด็ก ทั้งผู้ปกครอง และผู้เลี้ยงดู เพราะอาจจะกลายเป็นผู้นำเชื้อมาติดกับเด็กได้ ถ้าผู้ใหญ่ป้องกันตัวเองให้ดี เด็กก็ไม่มีโอกาสรับเชื้อ เพราะการแพร่เชื้อนั้นมีอยู่ 2 ทางหลักๆ คือ “การสัมผัส” เมื่อมือไม่สะอาด อาจจะไปหยิบจับวัตถุนอกบ้านที่มีเชื้อโรคติดอยู่ แล้วมาสัมผัสเด็กก็ทำให้ติดเชื้อได้ ฉะนั้นต้องระมัดระวังในการป้องกัน และใส่ใจกับการล้างมือบ่อยๆ อย่างสะอาดและถูกวิธี
อีกทางคือการแพร่เชื้อผ่านการไอจาม โดยสัญชาตญาณผู้ปกครองมักจะระวังตัวเป็นพิเศษ ที่จะไม่ไอหรือจามใส่หน้าลูกอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น มีอาการแพ้อะไรสักอย่าง หรือเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจทำให้จามได้ ดังนั้น ผู้ปกครองต้องใส่หน้ากากอนามัย เวลาที่อยู่ใกล้ชิดกับเจ้าตัวน้อย รวมไปถึงขณะที่ให้นมลูก และสัมผัสลูกด้วย
ในกรณีที่ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กเองไม่ไหว ต้องการคนมาช่วยดูแล ตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบให้ดีและมั่นใจว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง โดยองค์กรกุมารแพทย์ที่อเมริกาก็ได้ออกมาแนะนำเช่นกันว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อโควิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ปกติ ควรเลี่ยงที่จะมาช่วยเลี้ยงเด็กเล็ก
ส่วนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปข้างนอกจริง ๆ ให้เลือกการเดินทางที่มีความปลอดภัย และเหมาะสมในแต่ละกรณี อาทิ เดินทางด้วยรถส่วนตัว หรือใช้บริการรถสาธารณะ ที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ส่วนเด็กเล็กไม่สนับสนุนให้สวมหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (Face Shield) หากมีความจำเป็นจริง ๆ การวางเด็กไว้ในรถเข็นเด็ก และเอาผ้าคลุมรถเข็น น่าจะเป็นทางที่ดีกว่า
การป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสสู่ทารกที่ดีที่สุด
1. ล้างมือของตัวเองให้สะอาด ตามสุขอนามัยก่อนสัมผัสทารก และผู้เลี้ยงดูสามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ หากไม่แน่ใจในอาการของตัวเอง
2. ผู้ที่มีอาการไม่สบาย โดยเฉพาะมีอาการทางระบบหายใจ ควรงดเข้าใกล้ทารก
3. งดการนำทารกแรกเกิดออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัคซีนตามกำหนด หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่สบาย
4. หากจำเป็นต้องพาทารกไปอยู่ในที่ชุมชน ควรปฏิบัติตามนโยบายของ Physical Distancing (เว้นระยะห่างทางร่างกายจากผู้อื่นในระยะ 2 เมตร) อย่างเคร่งครัด
5. งดการเยี่ยมทารกจากบุคคลภายนอก ทั้งที่โรงพยาบาล และที่บ้าน
นอกจากนี้พ่อแม่ควรเน้นการล้างมือบ่อย ๆ ให้กับลูก เพราะเด็กมักจะหยิบเล่นของเล่นอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้มือสัมผัสกับเชื้อโรคได้ และเน้นการทำความสะอาดบริเวณที่เด็กเล็กเล่นของเล่น
Credit content: www.th.theasianparent.com
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย