Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

โรคร้ายในเด็กที่มากับหน้าหนาว โรคที่ทำให้เด็กป่วย มีอะไรบ้าง พ่อแม่ควรทำอย่างไร!

โรคร้ายในเด็กที่มากับหน้าหนาว โรคอันตรายสำหรับเด็กเล็กที่พ่อแม่ควรระวังเป็นพิเศษ วิธีสังเกตุอาการโรคต่างๆ ถ้าลูกน้อยมีอาการแบบนี้แสดงว่าลูกเป็นอะไร


โรคร้ายในเด็กที่มากับหน้าหนาว มีอะไรบ้าง

กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย ได้ออกประกาศเกี่ยวกับ “การป้องกันโรคและภัยที่เกิดในฤดูหนาว” เนื่องจากประเทศได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้จะมาพร้อมกับ โรคร้ายในเด็กที่มากับหน้าหนาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็กอายุระหว่าง 0-4 ปี โรคยอดฮิตที่พบในหน้าหนาว ได้แก่

1.โรคไข้หวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางจมูก ปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่ สาธารณะ ส่วนมากจะเกิดในเด็ก เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอนุบาล

ลักษณะของอาการ คือ อาการของโรคไข้หวัดธรรมดา ได้แก่ น้ำมูกใส ๆ ไหล จาม คัดจมูก บางคนครั่นเนื้อครั่นตัว อาจมีอาการไอตามมาทีหลังได้ อาการไข้มักจะไม่สูงมากและเป็นอยู่ไม่เกิน 3 วัน อาการหวัดมักจะหายไปเองใน 3-4 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน  อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมี เจ็บคอ ไอแห้ง ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล โดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน บางครั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึม สับสน หรือการช่วยเหลือตนเองได้ลดลง

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ หากอุณหภูมิไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ไม่ควรให้ยาลดไข้ แต่ควรใช้วิธีเช็ดตัวโดยนำผ้าชุบน้ำอุ่นทำให้ตัวลูกเย็นลง โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ แต่ถ้ามีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย

วิธีการป้องกัน คือ ไม่ควรให้เด็กคลุกคลีกับคนที่ป่วย

2.โรค RSV

ไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้  ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบเหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็วเชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัส ใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ

ลักษณะของอาการ คือ หากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2-4 วันแรก มักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล จนถึงขั้นเป็นโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบเลยก็มี ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด กินอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว ยิ่งเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ พาไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

วิธีการป้องกัน คือ หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

3.โรคปอดบวม

โรคปอดบวมในเด็กเกิดจากการติดเชื้อในปอด ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ติดต่อทางจมูก ปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่ สาธารณะ พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี

ลักษณะของอาการ คือ มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก อีกทั้งเด็กยังมีอาการงอแงและซึม บางรายอาการรุนแรงจะหายใจแรงจนจมูกบานหรือหน้าอกบุ๋ม และถ้าหลอดลมภายในปอดตีบอาจจะเกิดเสียงหายใจวี้ด และรายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ เลี่ยงให้ลุกสัมผัสควันบุหรี่ ควันไฟ และไอเสียรถยนต์ และยิ่งช่วงอากาศหนาวเย็นควรให้ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น นอนห่มผ้าเสมอ และควรพาไปพบคุณหมอ

วิธีการป้องกัน คือ ควรพาไปพบคุณหมอเกี่ยวกับการฉีควัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค

4.โรคอีสุกอีใส 

โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะน้ำจากตุ่มน้ำและติดต่อได้ทางอากาศ

ลักษณะของอาการ คือ ในระยะเริ่มต้นจะคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เบื่ออาหาร งอแง จากนั้นเริ่มมีผื่นแดง ก่อนเปลี่ยนเป็นตุ่ม มีน้ำใสภายในและคัน ตุ่มจะทยอยขึ้นทั่วตัวเต็มที่ภายใน 4 วัน

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ ควรตัดเล็บลูกให้สั้น และจำเป็นต้องใส่ถุงมือเพื่อกันลูกเกา จะทำให้เชื้อลุกลาม โรคนี้เป็นแล้วหายได้เอง พร้อมทั้งรักษาดูแลตามอาการ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ กินยาลดไข้ตามคุณหมอสั่ง และควรรีบพาไปพบหมอด่วนถ้าลูกรับเชื้อไวรัสเป็นอีสุกอีใสตอนอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์ เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทาน เสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย

วิธีการป้องกัน คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ

 

5.โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

ลักษณะของอาการ คือ อาการเริ่มต้นคล้ายหวัด มีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปาก และมีอาการเจ็บ มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น และมีอาการไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้จะดูว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่น ลูกมีอาการซึมลง ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม ปวดหัวมาก พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ ปวดต้นคอ คอแข็ง อาเจียน มีอาการสะดุ้งผวา และมีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย ๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

วิธีการป้องกัน คือ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งพ่อแม่ควรรีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ ล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก

6.โรคอุจจาระร่วงในเด็ก

โรคอุจจาระร่วงในเด็ก มักจะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้โดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน

ลักษณะของอาการ คือ จะมีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่รับเข้าไป

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ เด็กที่มีอาการรุนแรงจะถ่ายมาก ส่งผลให้เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไปเยอะ จึงควรให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ และให้น้ำตาลเกลือแร่ชดเชยเกลือแร่ที่เสียไป แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที

วิธีการป้องกัน คือ ล้างมือให้สะอาด และการฉีดวัคซีนป้องกัน

7. โรคหัด

โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค ติดต่อง่าย และรวดเร็วจากการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ลักษณะของอาการ คือ มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง ไข้ไม่ลดถึงแม้ว่าจะกินยาลดไข้ ซึม งอแง เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง บางรายมีการถ่ายเหลว และอาจชักจากการมีไข้ได้ จากนั้นร่างกายจะมีผื่นเริ่มขึ้น ลักษณะเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด เริ่มจากบริเวณตีนผม ซอกคอ ก่อนจะลามขึ้นใบหน้า ลำตัว แขน ขา อาจมีอาการคัน โดยผื่นจะขึ้นอยู่ 2-3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้นและจะจางลง โรคหัดส่วนใหญ่เป็นแล้วหายได้เอง

วิธีการดูแลลูกน้อยเมื่อป่วย คือ พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น ให้กินยารักษาตามอาการ ถ้ามีอาการไอ เสมหะข้น-เขียว หายใจไม่สะดวก เพราะหลอดลมตีบ ควรพบคุณหมอ

วิธีการป้องกัน คือ การวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน

 

Credit content: www.th.theasianparent.com

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย