คุณแม่รู้ไหม ปัจจัยอะไรที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด
มีปัจจัยอะไรบ้างนะ ที่อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้ มาดูกันเลย เพราะคุณแม่ยุคใหม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์
ปกติแล้วคุณแม่จะคลอดลูกเมื่อมีอายุครรภ์ 37 – 40 สัปดาห์ แต่บางครั้งก็อาจมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ การคลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึงก่อน 37 สัปดาห์ ทำให้ร่างกายของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ลูกน้อยที่เกิดก่อนอาจมีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก และอวัยวะสำคัญก็อาจมีปัญหาได้เช่นกัน ปัญหาที่พบได้บ่อย คือ ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะขาดออกซิเจน รวมถึงระบบต่าง ๆ เช่น ระบบการหายใจ ที่อาจพบปัญหาได้บ่อยครั้ง
ถึงแม้ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดได้อย่างแน่ชัด แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจมีผลมาจากปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- อายุของคุณแม่ ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดในทางการแพทย์
- โรคประจำตัวของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด
- มีประวัติการแท้งลูก
- มดลูกขยายตัวมากเกินไป เช่น ครรภ์แฝด ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
- มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ปากมดลูกสั้น
- ติดเชื้อในร่างกาย เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ ท้องจะโตไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะได้ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่งผลให้มีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
- การอักเสบในช่องคลอด
- ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์
- บุตรในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซมหรือมีภาวะติดเชื้อ
นอกจากนี้เพื่อให้คุณแม่สามารถสังเกตอาการและเตรียมพร้อมรับมือการคลอดก่อนกำหนดได้ทัน อาจลองสังเกตตัวเอง ได้จากสัญญาณเหล่านี้ได้ เช่น
- มีอาการบวมและความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของครรภ์เป็นพิษ
- ปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอวอย่างต่อเนื่อง หรือเป็น ๆ หาย ๆ
- มีการหดตัวของมดลูก ทำให้ปวดหรือเจ็บ อาจเกิดขึ้นในระยะ 10 นาทีหรือถี่กว่านั้น
- มีมูกหรือเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการน้ำเดิน
- รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
- มีอาการท้องแข็งบ่อย
อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรมีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ และฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกน้อยของคุณแม่จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม รวมถึงควรใส่ใจดูแลบำรุงครรภ์และสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงด้วยนะ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังในการใช้ชีวิต ที่สำคัญต้องไม่ลืมสังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ จะได้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ รวมถึงรับคำแนะนำที่ถูกต้องได้ทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก: Bangkok Hospital , theasianparent , Pobpad
ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย