Thailand

Poko-chan

bg-header-site-01.png

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

ท้องเริ่มเหมือนคนตั้งครรภ์แล้ว!

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเห็นได้จากภายนอกร่างกาย โดยจะเริ่มรู้สึกว่า “มีทารกอยู่ในท้อง!”
จะรู้สึกมีความสุขเมื่อท้องเริ่มขยายใหญ่
ซึ่งจะรู้สึกแบบนี้ได้แค่ในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น
มาเพลิดเพลินกับความสุขเช่นนี้กันเถอะ!

จะเกิดผิวแตกลายแน่นอนหรือไม่?

ผิวแตกลายหมายถึงเส้นที่แสดงให้เห็นการบวมที่เกิดขึ้นในตอนที่ตั้งครรภ์และเต้านมเริ่มใหญ่

อาจจะเกิดขึ้นกระทันหันในไตรมาสที่ 3 หรือเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ทำไมถึงเกิดผิวแตกลาย?

สาเหตุของผิวแตกลายคืออะไร?

ในตอนที่ท้องเริ่มใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังด้านนอกจะไม่สามารถรับมือกับความเร็วในการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อและไขมันได้ จึงทำให้ผิวแตกลาย ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและรูปร่าง คนที่รูปร่างเล็กกับคนที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ จะเกิดผิวแตกลายได้ง่าย ไม่มีอาการเจ็บแต่มีบางคนบอกว่าจะรู้สึกคัน ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อลูกในท้อง แต่หากเป็นแล้วครั้งหนึ่งจะไม่สามารถลบเลือนหายไปได้หมด ควรจะคิดแทนว่า “ผิวแตกลายเป็นหลักฐานของคุณแม่!” หรือกรณีที่ไม่อยากให้มีรอยที่ผิว ก็ควรป้องกันเอาไว้

เพื่อป้องกันผิวแตกลาย

ในการป้องกันก่อนเกิดผิวแตกลาย มีสิ่งสำคัญ 2 ประการดังต่อไปนี้

●ระวังการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องใส่ใจกับการควบคุมน้ำหนักตัวเพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ ขอให้พยายามควบคุมแคลอรี่เพื่อให้ลูกในท้องเติบโตอย่างแข็งแรง และควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์

●รักษาความชุ่มชื้นของผิวด้วยครีม ฯลฯ

ผิวแตกลายเป็นปัญหาด้านผิวหนัง ในการป้องกันปัญหาด้านผิวหนัง ตามหลักการก็ต้อง “รักษาความชุ่มชื้น” แบบเดียวกับหน้าด้วย หลังอาบน้ำหรือล้างหน้าตอนเช้า ขอให้ทาครีมให้ความชุ่มชื้นที่ท้องและนวดเบา ๆ หากรักษาสภาพผิวให้ชุ่มชื้นและมีความยืดหยุ่นได้ ในตอนที่ท้องเริ่มใหญ่ขึ้น ผิวหนังจะยืดอย่างยืดหยุ่นซึ่งจะจะช่วยป้องกันผิวแตกลายได้ ปัจจุบันมีครีมสำหรับป้องกันผิวแตกลายโดยเฉพาะ ขอให้ลองใช้ดู

ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะมีผิวแตกลายเกิดขึ้นในจุดที่มองเห็นเองได้ยาก เช่น ในบริเวณท้องด้านล่าง การรักษาความชุ่มชื้นของผิวหน้าท้องทั้งหมดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

หากเกิดผิวแตกลาย

หากเกิดผิวแตกลายแล้วครั้งหนึ่ง จะไม่สามารถลบเลือนให้หายไปได้หมด ซึ่งในระหว่างที่ตั้งครรภ์ จะมีสีแดง แต่หลังคลอดจะมีสีค่อนข้างขาวและจะค่อย ๆ จางลงไป

หลังเกิดผิวแตกลาย หากยังคงทาครีมให้ความชุ่มชื้นและนวด อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้สีเข้มขึ้นกว่านั้นได้ สิ่งสำคัญคืออย่ายอมแพ้!

เต้านมจะเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อใด?

มีบางคนที่หัวนมจะไวต่อความรู้สึก ซึ่งเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์

และหัวนมหรือลานนมอาจจะมีสีคล้ำขึ้นพร้อมกับการตั้งครรภ์

ในขณะตั้งครรภ์ แม้ว่าจะยังไม่มีน้ำนมออกมาแต่เต้านมก็เริ่มใหญ่ขึ้น

ลองมาดูความเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ เต้านมกัน

การเปลี่ยนแปลงในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์

มีไม่น้อยที่พบว่าการเปลี่ยนแปลงของหัวนมหรือลานนมเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นตำแหน่งที่ละเอียดอ่อนที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทันทีที่ตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงของหัวนมและลานนมที่เห็นได้ว่าเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์มีดังนี้

●ไวต่อความรู้สึก

อาจจะรู้สึกเจ็บหรือรู้สึกแปลบ ๆ แค่เพียงหัวนมสัมผัสถูกชุดชั้นในหรือเสื้อผ้า เนื่องจากหัวนมเริ่มมีการสร้างต่อมน้ำนม

●สีคล้ำขึ้น

เม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ และทำให้หัวนมและลานนมมีสีคล้ำขึ้น

*ขอให้ทำการตรวจอัลตราซาวด์มะเร็งเต้านมให้เสร็จเรียบร้อยภายในช่วงเวลานี้ (ภายใน 15 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์)!

การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

เต้านมจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น ในระหว่างตั้งครรภ์ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีน้ำนม แต่ทำไมถึงใหญ่ขึ้น นั่นเป็นเพราะมีการสร้างต่อมน้ำนมขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งมีไขมันเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทั้งร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของเต้านมในระยะเวลานี้มีดังนี้

●เต้านมใหญ่ขึ้น

อาจจะมีปัญหาผิวแตกลายแบบเดียวกับท้อง เนื่องจากเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรดูแลผิวด้วยครีมให้ความชุ่มชื้น ฯลฯ ที่เต้านมด้วย

●อาจจะมีน้ำนมไหลออกมา

อาจจะมีน้ำนมไหลออกมาเล็กน้อย (สารคัดหลั่งที่มีสีขาวขุ่น) เมื่อเกิดสิ่งกระตุ้นที่หัวนมเนื่องจากต่อมน้ำนมได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว

การดูแลเต้านม (หัวนม) ทำอย่างไร?

น้ำนมที่ไหลออกมาจากเต้านม

จะเป็นแหล่งของสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก

การดูแลหัวนมและลานนมในขณะตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เพื่อให้หลังคลอดสามารถเริ่มให้นมลูกได้อย่างไม่มีปัญหา

ทำไมต้องดูแล?

หลังคลอด เต้านมของคุณแม่จะมีน้ำนมและขยายใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติ แต่การไหลของน้ำนมจะมีความแตกต่างระหว่างบุคคล เหตุผลที่ไหลแตกต่างกันเนื่องจากความแตกต่างของรูปร่างหัวนม, สภาพการเปิดของต่อมน้ำนม (ท่อน้ำนม) เป็นต้น

รูปร่างของหัวนมจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งมีทั้งรูปร่างที่ลูกดูดได้ง่ายและดูดได้ยาก หากหัวนม แบน เด็กจะดูดนมได้ยาก

สภาพของต่อมน้ำนมและทางออกของน้ำนม

หากต่อมน้ำนมและทางออกของน้ำนมติดขัด อาจจะทำให้เส้นทางการไหลของน้ำนมไม่ดี และออกได้ยาก

การดูแลหัวนมและลานนม

เพื่อให้เต้านมอยู่ในสภาพที่ลูกดูดนมได้ง่ายและน้ำนมไหลออกง่าย ขอให้นวดส่วนของหัวนมและลานนมตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ซึ่งเข้าสู่ช่วงคงที่แล้ว (ประมาณ 20 สัปดาห์) นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยดัดหัวนมที่บุ๋มหรือแบนได้ด้วย

*แต่ร่างกายในขณะตั้งครรภ์จะบอบบางมาก มีบางกรณีที่การนวดไปกระตุ้นให้รู้สึกท้องอืด ดังนั้นก่อนที่จะนวดหรือใช้อุปกรณ์ ขอให้ปรึกษาแพทย์หรือแพทย์ผดุงครรภ์ก่อน

●การนวดหัวนม

การนวดหัวนมและลานนม หากทำหลังอาบน้ำจะทำให้ผิวนุ่มและได้ผลมาก

ให้ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว และจับลานนมด้วยนิ้วอีกข้าง ค่อย ๆ บีบนวดทั้งข้างซ้ายและข้างขวาทีละน้อย

หากลานนมยังไม่อ่อนนุ่ม ให้ดันออกไปทางหัวนมและปล่อย

ให้จับหัวนมและดึงเบา ๆ

*ก่อนที่จะเริ่มนวดหัวนมและลานนม ขอให้ล้างมือและเต้านมให้สะอาดก่อน

นอกจากนี้ เมื่อมีการกระตุ้นหัวนม อาจจะทำให้ท้องอืดได้ ในกรณีดังกล่าว ขอให้หยุดทำทันที

ทำไมจึงจำเป็นต้องควบคุมน้ำหนักตัว?

เมื่อผ่านช่วงเกิดอาการแพ้ท้อง

ก็จะรู้สึกว่าหิวง่ายกว่าตอนก่อนท้อง

แต่ความคิดที่ว่า “ต้องกินในปริมาณ 2 คนเผื่อลูกด้วย” นั้นเป็นความคิดแบบเก่าๆ

ในยุคปัจจุบันที่อาหารการกินมีความสมบูรณ์นั้น

สิ่งสำคัญก็คือปริมาณที่เหมาะสมและความสมดุลทางโภชนาการ

รายละเอียดการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวเป็นอย่างไร?

ทารกเกิดมามีน้ำหนักแค่ประมาณ 3 กิโลกรัม แต่ทำไมน้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น?

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์ กล่าวกันไว้ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

●น้ำหนักของทารกในครรภ์→ประมาณ 3 กิโลกรัม

●น้ำหนักของรก→ประมาณ 0.5 กิโลกรัม

●น้ำหนักของน้ำคร่ำ→ประมาณ 0.5 กิโลกรัม

●น้ำหนักของมดลูก, เต้านม, เลือด ฯลฯ ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการตั้งครรภ์→ประมาณ 4 กิโลกรัม

เมื่อรวมแล้วก็จะได้น้ำหนัก “ประมาณ 8 กิโลกรัม”บวกกับการสะสมของไขมันและปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมนอันเนื่องจากการตั้งครรภ์อีกด้วย

เหตุใดจึงไม่ควรให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป?

ผลร้ายที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวมีดังต่อไปนี้

ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ โรคเบาหวานจากการตั้งครรภ์ ฯลฯ

อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมดลูกหดรัดตัวน้อยกว่าปกติในตอนคลอด

หากไขมันสะสมมากเกินไปจะทำให้ช่องคลอดแคบ หรือทารกมีขนาดตัวใหญ่เกินไป มีแนวโน้มที่จะคลอดลูกลำบาก

น้ำหนักตัวน้อยเกินไปก็มีปัญหา

ส่วนอีกด้าน คุณแม่ที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา

“คลอดให้ตัวเล็ก และเลี้ยงให้เติบใหญ่” นั้นเป็นคำภาวนาในการคลอดลูกอย่างปลอดภัยก็จริง แต่หากควบคุมน้ำหนักมากเกินไป ก็อาจจะเป็นเหตุทำให้ทารกคลอดออกมาโดยมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ (ไม่ถึง 2500 กรัม) ได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามสิ่งสำคัญคือทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่าควบคุมน้ำหนักมากเกินไป จนทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็น

เพื่อรักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไร?

คราวนี้มาดูเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักตัว

อย่างเป็นรูปธรรมกันเถอะ

หลักสำคัญก็คือ คิดถึงความสมดุลมากกว่าเรื่องปริมาณ

บวกกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม!

เป้าหมายการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์คืออะไร?

เป้าหมายการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในขณะตั้งครรภ์ที่แนะนำโดยทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ประกาศออกมาเมื่อปีพ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) มีรายละเอียดังต่อไปนี้

นี่คือ BMI (Body Mass Index) ที่แบ่งตามโครงสร้างของร่างกาย

●คนที่มีรูปร่างผอม (BMI=น้อยกว่า 18.5) →9 - 12 กิโลกรัม

●คนที่อยู่ในระดับมาตรฐาน (BMI=18.5 - น้อยกว่า 25) →7 - 12 กิโลกรัม

●คนที่มีรูปร่างอ้วน (BMI=ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป) →ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล (เป้าหมายประมาณ 5 กิโลกรัม)

*สูตรการคำนวณ BMI คือ [น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / [ส่วนสูง (เมตร)]2

เพื่อการควบคุมน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ควรทำอย่างไร?

ชั่งน้ำหนักบ่อยๆ

เช่นเดียวกับตอนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมน้ำหนักตัวก็คือ การรู้ถึงสภาพปัจจุบัน ขอให้ชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวเอาไว้ หากเป็นไปได้ให้เขียนเป็นกราฟ แล้วติดเอาไว้ในที่ๆ มองเห็น

ไม่ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกิน 300 กรัมใน 1 สัปดาห์

น้ำหนักตัวที่สามารถเพิ่มขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์คือไม่เกิน 300 กรัม หากเพิ่มขึ้นมากเกิน 500 กรัมต้องระวัง สำหรับคนที่คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะตรวจเช็คอย่างละเอียดเช่นนั้น ก็ให้ควบคุมโดยตั้งเป้าหมายไว้ไม่เกิน 1 กิโลกรัมใน 1 เดือน

เมื่อพ้นช่วงเกิดอาการแพ้ท้องให้กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ ลดการกินของจุกจิก

ขอให้เลิกกินของจุกจิกโดยอ้างว่าหิว พยายามกินอาหารให้ตรงตามเวลา และบริโภคสารอาหารให้ครบถ้วน

สำหรับผู้ที่รอกินข้าวพร้อมสามี แต่สามีกลับบ้านค่ำเลยอ้างว่า “ทนไม่ไหวในระหว่างที่รอ!” นั้นขอแนะนำให้แบ่งปริมาณอาหาร 3 มื้อเป็น 4 ครั้ง ตอนช่วงเย็นให้กินอาหารเบา ๆ ในปริมาณเท่าของว่าง เวลากินอาหารเย็นก็ให้กินน้อยกว่าสามี

คิดถึงความสมดุลมากกว่าเรื่องปริมาณ

ลดปริมาณน้ำตาล ไขมัน ที่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ควรจะลดปริมาณเกลือเนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์และทำให้กินข้าวได้มากเกินไป การรักษาสมดุลเป็นสิ่งสำคัญทั้งสำหรับร่างกายของคุณแม่และทารก บริโภคผักมาก ๆ เพื่อทำให้รู้สึกอิ่มท้องและใส่ใจบริโภคอาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียม

ใส่ใจออกกำลังกายให้เหมาะสม

แม้จะพูดกันว่า “คนตั้งครรภ์ควรพักผ่อนอยู่นิ่ง ๆ” แต่การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การเดินไม่ก่อให้เกิดผลร้ายทั้งต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ พอเข้าสู่ช่วงปลอดภัยขอแนะนำให้ไปเดินเล่นหรือเดินออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง แน่นอนว่าการทำงานบ้านตามปกติก็สามารถทำได้

ในระยะหลังมีคนที่แม้น้ำหนักตัวจะเป็นปกติแต่ก็คลอดลูกยากเนื่องจากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่จะเป็นการลดแคลอรี่เท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างกล้ามเนื้อซึ่งถือเป็นการเตรียมตัวสำหรับการคลอดลูกอีกด้วย สำหรับคนที่เดินออกกำลังกายและทำงานบ้านแล้วน้ำหนักตัวยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขอให้ลองไปเข้าคอร์สว่ายน้ำหรือเต้นแอโรบิคสำหรับคนตั้งครรภ์ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็อาจจะช่วยได้

มักจะคิดกันว่า “การควบคุมน้ำหนักเป็นเรื่องลำบาก...” แต่นี่ถือว่าเป็นการควบคุมสุขภาพที่สำคัญสำหรับคน 2 คนทั้งคุณแม่และทารก

หากตั้งใจพยายามไปพร้อมกับทารกโดยคิดว่า “นี่เป็นการทำเพื่อให้ลูกในท้องคนสำคัญเจริญเติบโตและคลอดออกมาอย่างแข็งแรง” ก็จะทำให้การควบคุมน้ำหนักดูเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นใช่ไหม?

อาการปัสสาวะเล็ดของแม่ตั้งครรภ์

เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านอาจจะมีอาการแปลกๆที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ใช่ไหมคะ หนึ่งในนั้นคืออาการปัสสาวะเล็ด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับแม่ๆทุกท่าน

จริงๆแล้วอาการปัสสาวะเล็ดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ปกติเราจะควบคุมการไหลปัสสาวะของเราได้ แต่ในบางกรณี เมื่ออยู่เหนือการควบคุมก็ทำให้ปัสสาวะเล็ดลอดออกมา เนื่องจากในช่องท้องมีแรงดันเพิ่มขึ้น เช่น ไอ จาม หัวเราะ หรือเวลาที่เรายกของหนัก ๆ (บางคนเกิดอาการกลัวมาก ๆ ก็ปัสสาวะเล็ดได้เหมือนกัน)

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ระบบทางเดินปัสสาวะมีการขยายตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรง ประกอบกับหนูน้อยในท้องตัวโตขึ้น มดลูกเลยขยายตัวจนกดทับกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย

วิธีแก้

1. เมื่อมีอาการปวดปัสสาวะให้รีบเข้าห้องน้ำโดยด่วน อย่ากลั้นไว้

2. การดื่มน้ำให้น้อยลงนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกวิธี อาจจะส่งผลให้ปัญหาอื่นๆตามมา

3. หลังคลอดอาการปัสสาวะเล็ดก็จะค่อย ๆ หายไปเอง ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าคุณแม่ยังมีอาการต่อเนื่อง ก็ควรปรึกษาคุณหมอ

โดยสรุปคือ ปัญหาปัสสาวะเล็ดถือไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การพกกางเกงชั้นใน และกางเกงติดตัวไว้สัก 1 ชุด ก็อาจจะเป็นการป้องกันที่ดีเลยนะคะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ pnmag

update : 19.09.2560

ระบบมีการใช้งานคุกกี้บนเบราเซอร์ของคุณ หากต้องการใช้งานโปรดเปิดใช้งานคุกกี้ กรณีที่คุณใช้ Safari บน iPhone หรือ iPad โปรดปิดโหมดการเรียกดูส่วนตัว หากคุณลบข้อมูลคุกกี้ รายการโปรดที่คุณเลือกไว้จะถูกลบไปด้วย

แชร์

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

เคล็ดลับคุณแม่ที่เกี่ยวข้อง